สภาพัฒน์ฯ ปรับแผนประชากร เน้นพัฒนาศักยภาพกลุ่ม 'สูงวัย' ทดแทน หลังปริมาณประชากรไม่เพิ่มขึ้น ชี้มาจากหลายปัจจัยและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.60 มีการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 5/2560 ณ ห้องประชุมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว อาคารมหานครยิปซั่ม โดยมี รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน ทั้งนี้ มีวาระหลักในการประชุมคือการรับฟัง (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี โดยมี น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นผู้นำเสนอ
น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์
น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ พ.ศ.2548 และจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2564 และใน พ.ศ. 2574 จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีผู้สูงวัยถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร หมายความว่า อัตราการเกิดใหม่ของเด็กมีแนวโน้มลดลง แนวโน้มดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบ เช่น รัฐต้องแบกภาระในการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ข้อมูลจาก น.ส.จินางค์กูร เปิดเผยอีกว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวเนื่องจากกำลังแรงงานลดลง ขณะที่คน Gen Y ซึ่งเป็นประชากรมากที่สุดของวัยแรงงานกลับแต่งงานมีบุตรน้อยลง ย้ายถิ่นฐานการทำงานเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายสูง ออมน้อย เกิดปรากฏการณ์แก่ก่อนรวยซึ่งการวางแผนและออกแบบนโยบายต้องสอดคล้องกับปัญหาดังกล่าว
"ปัญหาประชากรได้ถูกวางไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แต่ปริมาณประชากรก็ไม่เพิ่มขึ้น การช่วยเหลือด้านภาษีหรือการให้เงินดูแลก็ไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า การมีลูกเป็นเรื่องของผู้หญิงอยู่ที่อยากมีหรือไม่ ซึ่งมีปัจจัยคือ 1.อาชีพต้องไม่เป็นอุปสรรค 2.ต้องเชื่อว่าสังคมในปัจจุบันจะทำให้ลูกของเธอปลอดภัย และ 3.คือการที่ผู้ชายมีส่วนในการเลี้ยงลูกมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น คงไม่สามารถเพิ่มคนได้" น.ส.จินางค์กูร กล่าว
ที่ปรึกษาสภาพัฒน์ ยังเปิดเผยอีกว่า แผนประชากรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำลังร่างจะมีกรอบจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมาร่วมพิจารณา โดยจะเป็นเรื่องของการเพิ่มศักยภาพของประชากรที่มีอยู่ ซึ่งรวมไปถึงประชากรกลุ่มสูงวัยที่พบว่ามีศักยภาพมาก แต่ยังขาดการหนุนเสริม หากมีนโยบายที่ดีจะสามารถเปลี่ยนจากกลุ่มต้องสงเคราะห์เป็นกลุ่มที่เสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจประเทศได้ สำหรับข้อมูลศักยภาพประชากรในปัจจุบัน พบว่า ในกลุ่มปฐมวัยจำนวนมากยังมี IQ และ EQ ต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มแรงงานมีการผลิตต่ำไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ในขณะที่กลุ่มสูงวัยมีภาวะติดเตียง มีปัญหาสุขภาพ และต้องใช้ชีวิตตามลำพังมากขึ้น
นายสมคิด สมศรี
ด้านนายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุจะต้องไม่มีลักษณะสงเคราะห์ จึงได้เข้าไปทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ หรือ สสส. ในการสร้างผู้ดูแลสุขภาพ (Caregiver) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ โดยจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศ.พอศ.)ขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ หนึ่งศูนย์จะรับผู้สูงอายุไม่เกิน 10 คน ต่อผู้ดูแลสุขภาพ 2 คน ซึ่งทางกรมฯจะเข้าไปดูแลเรื่องมาตรฐาน คาดว่าจะทำให้มี ศ.พอศ. ทั่วประเทศได้ภายใน 5 ปี ผ่านกองทุนผู้สูงอายุที่กำลังจะมีขึ้น และจะถ่ายโอน ศ.พอศ. ต่อไปยัง อปท. หากผ่านมาตรฐานของทางกรมและมีการจัดทำระเบียบรองรับเสร็จสิ้นตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็น
รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
รศ.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาผู้สูงอายุกับสังคมสูงวัยมีความแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่ต้องดูในหลายมิติแต่ปัจจุบันแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงานต่างคิดต่างทำ จำเป็นจะต้องทำให้เกิดพิมพ์เขียวประเทศขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นแผนที่ประกอบต่อกัน เช่น ต้องมองเห็นสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อคนทำงานหนึ่งคน เป็นต้น นอกจากนี้ยังอยากฝากให้ช่วยกันดูว่าจะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการทำสิ่งที่เห็นว่าควรทำได้อย่างไร
"ปกติท้องถิ่นควรทำได้ทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องใหญ่ที่ทำไม่ได้จึงต้องใส่ไว้ในกฎหมาย แต่ปัจจุบันกลับกัน กลายเป็นต้องมาดูกันว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง สตง.คุมแบบนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แม้แต่เรื่องผู้สูงอายุ" รศ.เจิมศักดิ์ กล่าว
- 23 views