‘พร้อมไม่ท้อง’ เปิด 9 เหตุผลที่ทำให้คนมีลูกน้อย ในยุคเด็กเกิดน้อย แถมด้อยคุณภาพ ท่ามกลางสังคมสูงวัย
“หนูตัดสินใจไม่มีลูกเพราะเห็นว่ามีภาระต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเริ่มมากขึ้น แล้วถ้ามีลูกด้วยคิดว่าทำให้จะดูแลเค้าได้ไม่ดี”
“เราก็ก้มหน้าก้มตาเรียนตรี โท เอก เงยหน้ามาอีกทีก็หาใครมาเป็นแฟนไม่ได้ พอมาอยู่ที่ทำงานก็มีแต่ผู้หญิง ไม่ค่อยได้เจอผู้ชาย โอกาสที่จะมีแฟนก็ยากเข้าไปอีก”
นานาทัศนะที่เรียกเสียงฮาในช่วงบ่าย “เวทีสานพลังเพื่ออนาคตประเทศไทย : ยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” ที่กว่า 30 หน่วยงานมาร่วมกันขบคิดเพื่อร่วมกันมองนโยบายที่เหมาะสม โดยมี รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ชวนคิดชวนคุย ในประเด็นที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่เด็กเกิดน้อยลงทุกปี โดยในปี 2555 มีเด็กเกิดใหม่ ประมาณ 7.8 แสนคน ปี 2559 พบว่าการเกิดลดลงเหลือ 6.6 แสนคน และคาดว่าในปี 2583 จะมีเด็กเกิดใหม่เพียง 5 แสนคน
หากย้อนไปดูผลการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า ทัศนคติของสตรีไทยในการแต่งงานและมีลูกเปลี่ยนไปจากเมื่อ 15 ปีก่อนอย่างเด่นชัด ในปี 2559 ผู้หญิงบอกว่าไม่ต้องมีลูกก็สามารถมีชีวิตที่น่าพอใจได้ร้อยละ 75 ในขณะที่ในปี 2544 เห็นด้วยคำกล่าวนี้เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือ พบว่าหญิงไทยมีลูกคนแรกอายุเฉลี่ย 23.5 ปี และมีแนวโน้มมีบุตรยากถึงเกือบร้อยละ 16 แต่ประเด็นสำคัญของปริมาณที่น้อยลงนั้น ทำอย่างไรจะทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ ได้รับการดูแลให้เติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของสังคมไทยด้วย
จากสถานการณ์ทางประชากรดังกล่าว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการต้องตั้งวงถกเพื่อเสนอนโยบายจูงใจให้ครอบครัวที่มีความพร้อมให้มีบุตรได้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อน 9 ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่พร้อมแต่ไม่มีลูก ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหา
1.เรียนเยอะ เรียนหนัก เรียนนาน ความมุ่งมั่นในการเรียน ทำให้บางคน “ความรักไม่ยุ่ง มุ่งแต่เรียน” พอจบปริญญาตรี เรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก กว่าจะจบได้เป็นดอกเตอร์สมใจแล้วก็ต้องใช้เวลาในการหาคนคู่ครองอีกสักพัก มีระยะเวลาตัดสินใจจะแต่งงาน เมื่อถึงเวลาจะมีลูกอาจมีเวลาเหลือน้อยมากทำให้ไม่มีลูกหรือมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ในขณะที่บางคนก็อาจจะหมดโอกาสที่จะมีคู่ ยอมอยู่เป็นโสดไปเลยก็มีไม่ใช่น้อย
2.รอพร้อมจนแก่ หลายคนคิดว่าหากจะมีลูกต้องให้มีความพร้อมก่อน จึงทำงานหนักเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างฐานะทางการเงินให้มั่นคง เพื่อสร้างความสุขสบายให้กับลูก จึงคุมกำเนิดมาโดยตลอด แต่เมื่อมีทุกอย่างพร้อม วัยก็ล่วงเลยมาก บางคนจึงเกิดภาวะมีบุตรยาก บางคนด้วยอายุมากขึ้นเกิดความกลัวว่าลูกที่เกิดมาจะมีปัญหา และบางคนอาจมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น หากมีคนที่ 2 อาจเสี่ยงอันตรายทั้งแม่และลูก
3.ก้มหน้าทำงาน ลักษณะของผู้ที่มีความมุ่งมั่นในงาน มักจะทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจให้กับงานจนไม่ให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ ทำให้ไม่มีเวลากับเรื่องความรักหรือออกไปพบปะเพศตรงข้าม ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีคู่ และหากสภาพแวดล้อมของที่ทำงานบางแห่งมีแต่ผู้หญิง หรือบางแห่งมีแต่ผู้ชาย ยิ่งทำให้การเจอะเจอคนที่ใช่ยิ่งยากมากขึ้น บางประเทศกำหนดนโยบายส่งเสริมให้คนแต่งงานเร็วขึ้น และมีนโยบายส่งเสริมให้หนุ่มสาวโสดมีโอกาสได้พบกัน และส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานให้มากขึ้นด้วย
4.ค่าใช้จ่ายสูง หลายคนคิดว่าการมีเด็ก 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน ค่าเล่าเรียน ค่าคนเลี้ยงดูและอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย ทำให้คนรุ่นใหม่ที่วางแผนจะมีลูก ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวอย่างรอบคอบ หลายคู่ที่แต่งงานแล้วอาจจะตัดสินใจไม่มีลูกเพราะเหตุผลนี้ บางประเทศอย่างเกาหลีใต้จึงมีนโยบายให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลและเลี้ยงดูบุตรโดยตรง ให้ผลประโยชน์ทางภาษี ผลประโยชน์ด้านบำนาญ และเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
5.ความเครียดสร้างปัญหา สภาพสังคมที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ รวมไปถึงภาวะเจริญพันธุ์ด้วย ผู้หญิงที่มีลูกยากส่วนหนึ่งมาจากสภาวะความเครียดทำให้ไข่ตกไม่ตรงตามเวลา รวมทั้งผู้ชายจะมีเสปิร์มที่ไม่แข็งแรงพอ ดังนั้นคู่ที่แต่งงานแล้วมีภาวะความเครียดสูงโอกาสที่จะมีลูกก็จะน้อยลงไปด้วย
6.ระยะทางเป็นอุปสรรค การเดินทางจากบ้านถึงที่ทำงานที่ห่างกันมาก ส่งผลให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อย ดังนั้นบางหน่วยงานจึงสร้างที่พักให้พนักงาน เช่าซื้อ หรือซื้อในราคาไม่แพงมาก เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางให้น้อยลง ทำให้มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งบางหน่วยงานเคยสำรวจพบว่าการมีที่พักใกล้กับที่ทำงาน ส่งผลให้คู่ที่แต่งงานมีโอกาสมีลูกได้มากขึ้น
7.พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง สังคมสูงวัยทำให้มีพ่อแม่ที่แก่เฒ่าที่คนวัยทำงานต้องดูแล บางคนมีทั้งพ่อทั้งแม่ที่อายุมาก ดังนั้นการตัดสินใจจะมีลูกหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การจัดการของแต่ละครอบครัวที่มีคนสูงวัยอยู่ด้วย จะสามารถดูแลให้ดีทั้งพ่อแม่และลูกตัวเองได้อย่างไร ทำให้บางคู่ตัดสินใจไม่มีลูก
8.ขาดคนเลี้ยงดู ประเด็นใหญ่ของการตัดสินใจมีลูกของคู่ที่แต่งงานแล้ว คือ หากมีลูกแล้วจะให้ใครมาช่วยเลี้ยง ถ้าพ่อแม่แต่ละฝ่ายอายุมากดูแลให้ไม่ไหว หาคนเลี้ยงก็แสนยาก จะฝากศูนย์เลี้ยงเด็กก็ไม่ไว้ใจ ในประเทศเกาหลีใต้จึงสนับสนุนให้คนทำงานสามารถเลี้ยงลูกได้พร้อมๆ กัน โดยส่งเสริมให้เพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็ก เพิ่มระยะเวลาการกำหนดวันลาคลอด และเลี้ยงดูบุตรสำหรับพ่อและแม่
9.อยากมีแต่ไม่มา จากข้อมูลพบว่าสตรีไทยถึงร้อยละ 16 มีปัญหาการมีบุตรยาก แม้จะมีความพร้อมทุกด้านแล้วแต่พยายามหลายครั้งก็ไม่สามารถมีลูกได้ ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาหมอ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลงกว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
จากวงเสวนาในครั้งนี้ คงยังมีครั้งต่อไป เนื่องจากยังออกแบบนโยบายระดับกว้างไม่ชัด เนื่องจากปัจจัยเงื่อนไขของแต่คนละคนที่แตกต่างกันมาก การจะจูงใจให้คนมีลูกได้ต้องมีหลากหลาย เพราะการมีลูกไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับพ่อแม่แล้วจะตัดสินใจมีลูกง่ายๆ แต่ต้องมีปัจจัยเชิงพฤติกรรมอีกมากที่ต้องขบคิด และอาจต้องมีการวิจัยเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละช่วงวัยที่มีทัศนคติต่อการมีลูกให้ชัดขึ้น จึงจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ดีได้ ทั้งหมดนี้เราต้องเร่งมีนโยบายที่สำคัญเพื่อให้เด็กที่เกิดมาแม้จะน้อยแต่ต้องมีคุณภาพ ในสถานการณ์ประชากรที่ คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
- 798 views