โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา ชู “บริการระยะกลาง” ฟื้นฟูผู้ป่วยจากมือหมอจนแข็งแรงก่อนส่งกลับบ้าน แก้ปัญหา รพ.ขาดแพทย์ฟื้นฟู รักษาแบบแยกส่วน ส่งกลับทั้งที่ยังไม่พร้อม ดึงชุมชน แพทย์ทางเลือกเข้าร่วม หวังอุดช่องว่างบริการรัฐ ลดภาระครอบครัวผู้ป่วย
การบริการระยะกลาง (Intermediate care) เป็นการเตรียมและฟื้นฟูผู้ป่วยที่พ้นระยะรุนแรงที่ต้องดูแลโดยแพทย์ (acute care) แต่ยังมีปัญหาที่ต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตประจำวันที่บ้านได้โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวมากเกินไป การบริการดังกล่าวนั้นยังไม่ที่แพร่หลายนักในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและงบประมาณ และที่มากไปกว่านั้นคือวิธีคิดของการแพทย์สมัยใหม่มุ่งเน้นแต่การรักษาให้หายเป็นรายคนด้วยยาและการรักษาที่ตัดมิติทางสังคมออกไป
พูดง่ายๆ ก็คือ หากผ่าตัดแผลติดกันสนิทก็เป็นอันว่ากลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ เพื่อเปิดเตียงให้กับคนไข้รายใหม่ โดยไม่เฉลียวใจสักนิดว่าสภาพแวดล้อมที่บ้านของผู้ป่วยนั้นเอื้อต่อการฟื้นฟูร่างกายหรือไม่ จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยจะหวนกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกันไป
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานโครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะสังคมสูงวัย (สปสว.) พร้อมด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ที่ปรึกษากรรมการโครงการฯ นำทีมคณะทำงานลงพื้นที่ศึกษาดูงานโรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ต้นแบบโรงพยาบาลที่ให้การดูแลระยะกลาง เพื่อการรองรับผู้ป่วยหนักก่อนกลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดยเน้นไปที่การฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุดด้วยรูปแบบ Rehabilitation schemes คือ การให้ฟื้นฟูจากทีมสหสาขาวิชา (multidisciplinary team) ตลอดจนนำศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน เช่น การนวดผ่อนคลาย การฝังเข็ม และความรู้ของคนในท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วย
พบ รพ.ขาดแพทย์ฟื้นฟู รักษาแยกส่วน
การฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมามีร่างกายครบสมบูรณ์ราวกับไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่ไกลเกินความสามารถของแพทย์แต่อย่างใด ทว่าด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อำนวยจึงราวกับเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมของทั้งแพทย์และผู้ป่วยไปในทันที โดยเฉพาะปัจจัยด้านทางด้านเครื่องมือเครื่องไม้ และบุคลากรอย่างแพทย์เฉพาะทางด้านการฟื้นฟู (rehabilitation medicine)
การมีแพทย์เฉพาะทางด้านการฟื้นฟูเข้ามาวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาลสารภีฯ คือจุดเด่นที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ พญ.ชลาทิพย์ ซื่อวัฒนะ แพทย์เวชศาตร์ฟื้นฟูที่เข้ามาทำงานจิตอาสาให้กับโรงพยาบาลสารภีฯ กล่าวว่า แพทย์ฟื้นฟูจะทำการวินิจฉัยตั้งแต่ระบบการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อมัดต่างๆ ตลอดจนสภาพจิตใจของผู้ป่วยในการเข้าสังคม จากนั้นจึงจะส่งต่อให้กับนักกายภาพบำบัดเพื่อบริหารกล้ามเนื้อมัดต่างๆ และกระตุ้นการทำงานของสมองและการเข้าสังคมโดยนักกิจกรรมบำบัดซึ่งจะเป็นคนออกแบบกิจกรรมให้กับผู้ป่วย
“ในโรงพยาบาล การรักษาจะจบเพียงแค่พ้นจากมือหมอและดูแลเพิ่มเติมด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นการดูแลอย่างแยกส่วนกัน แม้กล้ามเนื้อจะได้รับการเยียวยา แต่สภาพจิตใจและการเข้าสังคมกลับไม่ได้ถูกฟื้นฟูแต่อย่างใด” พญ.ชลาทิพย์ กล่าว
หลังจากมั่นใจแล้วว่าร่างกายของผู้ป่วยสามารถกลับใช้งานได้จนเกือบเป็นปกติ จึงจะส่งต่อให้ญาตินำกลับไปดูแลต่อที่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นญาติจะต้องมาเตรียมความพร้อมกับทางโรงพยาบาลตั้งแต่การทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของสมองในกรณีผู้ป่วยสูงอายุ และหลังจากกลับไปอยู่บ้านแล้วจะมีการติดตามจากอาสาสมัครโรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วยที่บ้านจนมั่นใจว่ากลับมาเป็นปกติโดยไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่อย่างใด
พญ.ชลาทิพย์ กล่าวเสริมว่า จำนวนแพทย์ฟื้นฟูในประเทศไทยมีน้อยมาก ในจำนวนแพทย์จบใหม่ 100 คน จะพบเพียง 1-2 คนเท่านั้นที่เลือกศึกษาต่อเฉพาะทางด้านการฟื้นฟู เนื่องจากเป็นสาขาเฉพาะทางที่ไม่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเมื่อเทียบกับสาขาอื่น อีกทั้งการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เวลานานหลายปีจึงจะเห็นผล ในขณะที่ความต้องการในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย พบว่าผู้สูงอายุทุก 1 ใน 4 คนจะมีภาวะทุพพลภาพ โดยที่ร้อยละ 76 เป็นผู้มีภาวะทุพพลภาพระยะยาว และร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 100,000 คน มีภาวะทุพพลภาพระดับรุนแรง สาเหตุหลัก ๆ มาจากการเสื่อมถอยของร่างกายบวกกับโรคเรื้อรังที่เป็นกันมากในคนชรา
ดึงชุมชน แพทย์ทางเลือก อุดช่องว่างบริการรัฐ
การดึงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนุนนำการดูแลผู้ป่วย โดยผนวกเข้ากับศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านและความรู้จากท้องถิ่น คือหนึ่งในวิธีที่โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนานำมาใช้รับมือกับปัญหาข้อจำกัดด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดบทบาทของการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นรักษาด้วยยามาเป็นการเยียวยาด้วยความรู้สึกจากผู้ให้บริการ เน้นการรักษาด้วยการบำบัดโดยเคลื่อนไหวร่างกายและใช้สมุนไพร
นพ.จรัส สิงห์แก้ว
นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนากล่าวถึงผลสำเร็จของวิธีดังกล่าวว่าแม้จะให้ผลช้ากว่าการรักษาด้วยยาราคาแพง แต่ในระยะยาวกลับให้ผลดีทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย การสัมผัสกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่ต่างฝ่ายต่างปฏิสัมพันธ์กัน คนไข้จะรู้สึกว่าแพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่และเป็นกันเอง ลดเส้นแบ่งระหว่างหมอกับคนไข้ ทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี มากไปกว่านั้นยังลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่องเช่น ประสิทธิภาพของไตทำงานดีขึ้นจากการหยุดรับประทานยา
ทั้งนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวเสริมว่า วิธีการที่โรงพยาบาลสารภีฯ ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยในระยะรอยต่ออย่างก้าวหน้า สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไปคือทำอย่างไร จึงจะสามารถขยายวิธีคิดและถ่ายทอดความสำเร็จดังกล่าวไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการดึงคนหนุ่มสาวที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยของการเป็นผู้สูงอายุในอีก 5 -10 ปีข้างหน้า เข้ามาร่วมเรียนรู้และออกแบบระบบรองรับกับการเป็นสังคมสูงวัยซึ่งแน่นนอนว่าย่อมหนีไม่พ้นการเจ็บป่วยเรื้อรังและภาวะทุพพลต่าง ๆ ที่หากไม่ป้องกันไว้ก่อนอาจจะหมายถึงการสูญเสียงบประมาณมหาศาลที่รัฐต้องใช้ในการดูแล
- 1288 views