แนะรุก 4 มาตรการ เร่งสกัด “สารไซบูทรามีน” หลังพบยังแพร่ระบาดผสมในกาแฟลดน้ำหนัก เผย 5 ปี สุ่มตรวจพบ 145 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่ประกาศยกระดับสารไซบูทรามีนเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1” ไม่เป็นผล
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด และเลขานุการชมรมเภสัชกรปฐมภูมิ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยาไซบูทรามีนมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร ได้ถูกนำมาใช้ตามคลินิกลดความอ้วนหรือร้านขายยา มีชื่อการค้าว่า รีดักดิล (Reductil) แต่เดิมยานี้อยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด บริษัทผู้ผลิตได้สมัครใจถอนออกจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553 หลังจากไม่มียาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยานี้ หรือสารไซบูทรามีนไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ยังคงเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กลุ่มกาแฟลดน้ำหนักและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักภายใต้ชื่อยี่ห้อต่างๆ และยังมีขายแบบโดยจัดเป็นชุดร่วมกับยาระบาย ยานอนหลับรวมกัน จำหน่วยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางผลิตภัณฑ์เป็นการจำหน่ายในรูปแบบสมาชิก โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีทั้งที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเลข อย.จริง สามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลได้ และมีบางยี่ห้อที่ใช้เลข อย.ปลอม
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยผลข้างเคียงจากยาไซบูทราในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีข่าวผู้เสียชีวิตจากการดื่มกาแฟลดน้ำหนักและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน ดังนั้นเครือข่ายเภสัชกรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำการสุ่มเก็บกาแฟและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักในท้องตลาดเพื่อส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวังการปลอมปนอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 – 2561ตรวจพบสารไซบูทรามีน 145 ตัวอย่าง โดยปี 2560 พบมากที่สุดคือ 80 ตัวอย่าง และปี 2561 พบ 37 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีนอย่างเดียว 125 ตัวอย่าง ส่วนอีก 20 ตัวอย่างพบว่า มีการผสม Fluoxetine 10 ตัวอย่าง ผสม Bisacodyl 3 ตัวอย่าง ผสม Phenolphthalein 2 ตัวอย่าง ผสม Orlistat 2 ตัวอย่าง ผสมCaffeine 2 ตัวอย่าง และผสม Sildenafil 1 ตัวอย่าง
ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดขึ้น มีข้อมูลการรายงานผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 70 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากสารไซบูทรามีนอย่างน้อย 14 ราย ได้รับการยืนยันตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ 2 ราย ดังนั้นในปี 2561 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้มีบทลงโทษผู้กระทำผิดหนักขึ้น โดยผู้ใดขายผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนปลอมปนจะมีโทษตามมาตรา 116 จำคุกตั้งแต่ 4-20 ปีและปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ส่วนผู้ครอบครองจะมีโทษตามมาตรา 140 จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดด้วยตามมาตรา 141 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามภายหลังจากมีประกาศเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิดสารไซบูทรามีนแล้ว แต่ปัญหาปลอมปนสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักไม่ได้ลดลง จากการข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่เปิดเผยผลผลทดสอบยาอันตรายในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักและเสริมสมรรถภาพเพศชาย 25 ยี่ห้อ ที่ประกาศขายทางสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังคงพบทั้งไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล และ ทาดาลาฟิล สาเหตุที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่เนื่องจากยังมีความต้องการของผู้บริโภค และทำกำไรได้ จึงทำให้ยังมีการผลิตและจำหน่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า ต้องดำเนินการ 4 มาตรการไปพร้อมกัน คือ
1.สกัดช่องทางต่างๆ ในการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนสู่วงจรผลิต โดยทางอย.ต้องประสานกับกรมศุลกากร ในการตรวจสกัดตามด่านต่างอย่างเข้มงวด
2.เข้มงวดกระบวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่แสดงคำโฆษณาควบคุมน้ำหนัก มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกสู่ท้องตลาด (Pre-marketing Control) ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับระบบการขอเลขสารระบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สะดวกและรวดเร็ว แต่อาจเป็นช่องโหว่ในการเล็ดลอดได้ อีกทั้งในการยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตผลิตของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักส่วนใหญ่มักระบุส่วนประกอบอย่างถูกต้อง แต่มีการนำสารไซบูทรามีนมาใส่เพิ่มเติมในภายหลัง
3.เน้นกำกับดูแลผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด (Post-marketing Control) โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศเน้นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาจมีข้อจำกัดด้านกำลังคน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีจำนวนมาก อาจแยกเป็นสำนักต่างหากหรือตั้งเป็นหน่วยงานภายนอกเพื่อขึ้นทะเบียนและติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มข้น
และ 4.จัดทำกลไกตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน และรณรงค์ให้ผู้บริโภคเป็น Smart Consumer ในการหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนซื้อสินค้า ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารไซบูทรามีน หากพบผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาควรจะมีช่องทางการประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างประชาชน
“จากการติดตามสถานการณ์ไซบูทรามีนอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ปรากฏสะท้อนชัดเจนว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการยกระดับให้สารไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 และผู้ผลิต ผู้ขายมีโทษร้ายแรงขึ้น แต่สารไซบูทรามีนก็ยังวนเวียนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดน้ำหนัก ทั้งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรง ดังนั้นเพื่อให้สารไซบูทรามีนหมดไป จึงต้องมีการดำเนินมาตรการข้างต้นเพื่อให้เกิดประสิทธิผล” ภญ.สุภาวดี กล่าว
- 570 views