เผยชาวบ้านในชนบทยังนิยมทำฟันปลอมกับหมอเถื่อน เพราะมีความเชื่อว่าถอนฟันแล้วกระทบเส้นประสาท ด้านอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทันตแพทยสภาย้ำไม่เคยมีข้อมูลทางวิชาการว่าถอนฟันแล้วหูหนวกตาบอดหรือเป็นโรคประสาท เตือนใช้บริการหมอเถื่อนเสี่ยงอันตรายหลายด้าน ใช้บริการกับทันแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐได้มาตรฐานกว่าแถมยังฟรีค่าใช้จ่ายทั้งบัตรทองและประกันสังคม
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า นอกจากการทำงานเภสัชกรแล้ว ตนยังทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าค่านิยมของชาวบ้านบางส่วนยังคงนิยมใช้บริการทำฟันปลอมกับหมอฟันเถื่อน เพราะเวลาคนไข้มารับยาที่โรงพยาบาล ตนจะเจอเคสที่ฟันปลอมดูแปลกกว่าปกติ เมื่อสอบถามดูจึงทราบว่าเป็นฟันปลอมที่ทำจากหมอฟันเถื่อน
“เคสแบบนี้เจออยู่เรื่อยๆ จากการพูดคุยทำให้ทราบว่าชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้ามาทำฟันกับทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วจะต้องถอนฟันออก ทำให้บางคนรู้สึกเสียดายฟัน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการถอนฟันจะกระทบกับเส้นประสาท อาจมีอาการเป็นโรคทางประสาทได้ จึงนิยมใช้บริการหมอฟันเถื่อนเพราะคิดว่าใช้งานบดเคี้ยวอาหารได้เหมือนกัน” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ทั้งนี้การใช้บริการของชาวบ้านจะโทรเรียกหมอฟันเถื่อนมาให้บริการถึงที่บ้าน บางแห่งโทรเรียกแล้วมาใช้บริการทั้งหมู่บ้านเลยก็มี โดยราคาค่าบริการจะอยู่ที่ซี่ละ 200-300 บาท หรือหากทำแบบถอดทั้งแผงก็จะตกชุดละ 1,900 บาท หมอฟันเถื่อนเหล่านี้ส่วนมากเป็นคนต่างพื้นที่ เร่ให้บริการในหลายจังหวัด โดยมีลูกค้าเรียกใช้บริการแบบปากต่อปาก รายล่าสุดที่พบลูกค้าเป็นชาวร้อยเอ็ดแต่โทรเรียกหมอฟันเถื่อนมาจากยโสธร เป็นต้น
“ฟันปลอมเถื่อนก็มีทั้งที่ถอดได้และไม่ได้ วัสดุอุปกรณ์ก็ไม่ได้มาตรฐาน ระคายเคืองเหงือกและกระพุ้งแก้ม บางคนที่ำกับหมอฟันเถื่อนแล้วก็ต้องมาแก้ไขที่โรงพยาบาล การตรวจจับก็จะลำบากเพราะเจ้าหน้าที่เราไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ยกเว้นจะประสานกับทางตำรวจเพื่อดำเนินการล่อซื้อ”ภญ.สุภาวดี กล่าว
ด้าน ทพ.วัฒนะ ศรีวัฒนา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทันตแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบเจอการทำฟันกับหมอฟันเถื่อนในหลายพื้นที่ เฉพาะที่โรงพยาบาลมหาสารคามก็มักเจอผู้ป่วยที่ทำฟันกับหมอฟันเถื่อนแล้วมีปัญหามาให้ทันตแพทย์แก้ไขให้เดือนละ 1-2 รายซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก
"ฟันเทียมเถื่อนที่ทำ ถ้าเป็นแบบถอดได้ ลักษณะขอบฟันปลอมต่างๆ ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนคมต่างๆ อาจบาดเหงือกหรือกระพุ้งแก้มเป็นแผลได้ นอกจากนี้หากทำหลวมก็จะหลุดลงคอได้ง่าย รวมถึงการออกแบบที่ไม่ถูกต้องจะมีปัญหาทำให้สันเหงือกหรือสันกระดูกละลายตัวง่าย เวลาจะมารักษาเพื่อแก้ไขก็จะทำยาก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอีกหลายๆ อย่าง เช่น ความสะอาดในขณะทำ คุณภาพวัสดุที่เอามาทำฟันเทียมก็ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเหมือนที่ทันตแพทย์ใช้ มีความทนทานน้อยกว่า ยังไม่รวมถึงการปล่อยให้มีแผลในช่องปากเรื้อรังจนอาจเป็นมะเร็งในอนาคต ดังนั้นการใช้บริการหมอฟันเถื่อนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเป็นผลเสียกับชาวบ้านมากกว่า” ทพ.วัฒนะ กล่าว
ทพ.วัฒนะ ยังฝากข้อคิดไปยังผู้บริโภคด้วยว่า สำหรับความที่คิดว่าการถอนฟันจะกระทบกับเส้นประสาท ทำให้หูหนวก ตาบอดหรือมีอาการทางโรคประสาทนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ เพราะเส้นประสาทที่เลี้ยงฟันกับเส้นประสาทที่เลี้ยงตาหรือสมองเป็นคนละเส้นกัน ไม่เคยมีข้อมูลทางวิชาการว่าถอนฟันแล้วทำให้ตาบอดหรือหูหนวก
ขณะที่ประเด็นเรื่องการเสียดายฟัน ไม่อยากถูกถอนทิ้งเลยทำฟันเทียมครอบฟันเดิมไว้นั้น ขอเรียนว่าทันตแพทย์จะถอนในซี่ที่สมควร เช่น ซี่ที่รากฟันเป็นหนอง เทียบง่ายๆ คือถ้าเก็บรากฟันที่เป็นหนองแล้วใส่ฟันปลอมทับก็เหมือนเสี้ยนที่ตำเท้า เวลาบดเคี้ยวก็เจ็บ จึงควรเอารากฟันที่ไม่ดีออก การใส่ฟันปลอมเถื่อนทับฟันที่เป็นหนองจะทำให้เจ็บและเป็นรังของโรค ทำให้มีปัญหาในภายหลัง
ทพ.วัฒนะ กล่าวต่อไปว่า อยากฝากให้ประชาชนคำนึงถึงข้อดีข้อเสียว่าการทำกับทันตแพทย์จะมีการเตรียมช่องปากก่อน ต้องเอารากฟันที่อักเสบเป็นหนองออก ต้องตกแต่งฟันให้มีรูปร่างเหมาะสมก่อนใส่ฟันปลอมเข้าไปซึ่งจะใช้งานได้นานกว่า แต่ถ้าทำกับหมอฟันเถื่อนตามบ้าน 1-2 เดือนแรกอาจไม่มีผลเสีย แต่จะเห็นความแตกต่างในระยะยาว และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็หาตัวกันไม่เจอแล้วเพราะหมอฟันเถื่อนเหล่านี้ไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง
“ยิ่งประเด็นที่คิดว่าทำกับหมอฟันเถื่อนแล้วราคาถูกกว่าทำกับทันตแพทย์นั้นก็เป็นเรื่องไม่จริง เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม บัตรทอง หรือข้าราชการ สามารถรับบริการทำฟันปลอมชนิดถอดได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นจะไปเสียเงินทำไมในเมื่อมีของฟรีในโรงพยาบาลของรัฐให้อยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้อดทนรอเตรียมช่องปากระยะหนึ่งแล้วก็จะได้ของดีไว้เคี้ยวอาหารได้อีกนาน" ทพ.วัฒนะ กล่าว
- 819 views