เภสัชกรชุมชนสะท้อนปัญหาผลิตภัณฑ์ขอเลข อย.ง่าย เปิดช่องอวดอ้างสรรพคุณหลอกลวงผู้บริโภค พบแอบเติมสารอันตรายลงในอาหารเสริม โฆษณาเป็นยา ผงะ! ข้อมูลขึ้นทะเบียนด้วยระบบ E-Submission จ.สงขลา กว่า 70% จดแจ้งไม่ตรงตามความจริง
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ทุกวันนี้มียาและเครื่องสำอางหลากหลายที่จดแจ้งขอตรารับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยที่สถานที่ผลิตและส่วนผสมไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ ส่งผลให้ประชาชนเกิดอันตรายจากการบริโภค อาทิ การลักลอบผสมไซบูทรามีนในอาหารเสริมลดน้ำหนักจนทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือการแอบผสมสเตียรอยด์ลงในอาหารเสริมแล้วอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาอาการปวดได้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้และได้รับอันตรายจากการรับประทาน
ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าจำเป็นต้องปฏิรูปการทำงานของ อย. ด้วยการแยกงานที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบใบอนุญาต” (Pre-market Control) เช่น การให้ทะเบียนยากับยา การให้เลข อย.กับอาหาร การให้เลขที่จดแจ้งกับเครื่องสำอาง ออกจาก อย.ทั้งหมด แล้วจัดตั้งองค์กรอิสระซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีบุคลากรเพียงพอ ทำหน้าที่พิจารณาว่าสมควรจะรับรองผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือไม่ เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ส่วน อย.ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง กำกับดูแล รับเรื่องร้องเรียน (Post-market Control) ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก
“ทุกวันนี้พอเกิดปัญหาแล้ว อย.ไล่ตามไม่ทัน หากแยกงานในส่วนระบบใบอนุญาตออกมา ก็จะช่วยลดภาระของ อย.ลงได้ ที่สำคัญคือต้องมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ เพราะทุกวันนี้แค่เพียงไม่มีข้อห้ามก็สามารถขอ อย.ได้” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ภญ.สุภาวดี กล่าวว่า ปัจจุบันทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน พบสภาพปัญหาคือเมื่อผลิตภัณฑ์อาหารได้เลข อย.แล้ว ก็จะนำมาใส่รถเร่ออกขาย มีการโฆษณาสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นยา เมื่อได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็พบว่ามีการใส่สเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ในอาหารตัวนั้น
“เมื่อขอ อย.ได้ง่ายมาก คนก็ลักลอบใส่โน่นใส่นี่ได้เยอะมาก หรืออย่างการขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ E-Submission ด้วยการกรอกข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตนั้น ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ระหว่างเดือน ต.ค.2560-ก.ค.2561 พบว่า มีเครื่องสำอาง 76.94% จากตัวอย่างทั้งหมด 1,616 รายการ ที่เลขจดแจ้งไม่ตรงกับสถานที่ผลิตจริง มากไปกว่านั้นยังพบเครื่องสำอางที่ใช้สารห้ามใช้ปลอมปนอยู่ด้วย” ภญ.สุภาวดี กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการให้ทะเบียนยาตลอดชีพ ทั้งๆ ที่หลายโรคมีแนวทางการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่า 30 ปี ซึ่งในบางตัวไม่สอดคล้องกับการรักษา ไม่สมเหตุสมผล โรงพยาบาลหรือแพทย์แผนปัจจุบันเลิกใช้กันแล้ว แต่ชาวบ้านกลับยังนิยมใช้กันอยู่ตามการบอกต่อๆ กัน หาซื้อได้ในร้านขายของชำ ผสมอยู่ในยาชุด ฯลฯ ส่วนตัวคิดว่าหน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นควรสร้างกลไกการทบทวนอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งให้อำนาจในการยกเลิกทะเบียนยาเหล่านั้นด้วย
“แน่นอนว่าข้อเสนอเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ แต่ข้อเสนอเดียวกันนี้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เรื่องการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ อย.ด้วย” ภญ.สุภาวดี กล่าว
ทั้งนี้ ภญ.สุภาวดี ยังได้ตั้งแคมเปญรณรงค์หัวข้อ “แยกหน่วยงานให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ออกจาก อย.” ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่ https://www.change.org/p/กระทรวงสาธารณสุข-แยกหน่วยงาน-ให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์-ออกจาก-อย
- 33 views