ชมรมเภสัชกรปฐมภูมิเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.ระบบการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุขใน 9 ประเด็น ดึงร้านขายยาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ เพิ่มสัดส่วนทุกวิชาชีพในบอร์ดระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ให้สหวิชาชีพร่วมกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมต่อจำนวนผู้รับบริการ
ภก.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด และเลขานุการชมรมเภสัชกรปฐมภูมิ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ได้สรุปข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ระบบการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 9 ประเด็น เนื่องจากวันที่ 8-9 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญทุกวิชาชีพเข้าร่วมประชุมให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่มีเภสัชกรเข้าแค่ 1 คน ดังนั้นจึงประสานขอเสนอความคิดเห็นในภายหลัง
สำหรับข้อเสนอแนะทั้ง 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.มาตรา 3 ขอให้แก้ไขเพิ่มคำนิยามของการคุ้มครองผู้บริโภคเป็น “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขหมายถึงการปกป้องดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย เป็นธรรม และสมเหตุผลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ และหมายรวมถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วย” เหตุผลเนื่องจาก สถานการณ์ปัญหาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยในระดับปฐมภูมิเป็นสิ่งที่คุกคามสุขภาพของประชาชน
2.มาตรา 3 ขอให้เพิ่มเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในนิยามของ “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข” ด้วย เพราะเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เป็นหนึ่งในบุคลากรที่ร่วมในทีมงานปฐมภูมิ
3.มาตรา 3 ขอให้ร้านขายยาแผนปัจจุบันเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิด้วย เพราะร้านยาเป็นสถานปฏิบัติการทางเภสัชกรรมชุมชน ซึ่งสามารถร่วมให้บริการด้านยาและสุขภาพให้ประชาชนในระดับปฐมภูมิได้
4.มาตรา 5 ขอให้เพิ่มตัวแทนจากวิชาชีพเภสัชกรรม รวมถึงตัวแทนของทุกวิชาชีพ วิชาชีพละ 1 ตำแหน่งในคณะกรรมการระบบการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความครอบคลุมของการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการ
5.มาตรา 11 (7 ) การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับการให้บริการ ขอให้เพิ่มการสนับสนุนการผลิต การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของเภสัชกร และเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เพื่อให้บุคลากรในงานปฐมภูมิ มีศักยภาพในการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน
6.มาตรา 15 ขอให้เพิ่มคำนิยามแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการการแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในส่วนของคณะผู้ให้บริการการแพทย์
7.มาตรา 19 หน้าที่ของหน่วยบริการปฐมภูมิ ขอให้เพิ่ม 7.1 การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการปฐมภูมิร่วมด้วย 7.2 ให้รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เกิดขึ้นทั้งในหน่วยบริการปฐมภูมิและในระดับชุมชน เพื่อให้ประชาชนในระดับชุมชนมีความปลอดภัยในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (PP&P Excellence)
8.มาตรา 21 ขอให้เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขเป็นการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนในระดับชุมชนมีความปลอดภัยในการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
และ 9.มาตรา 40 การจัดให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนผู้รับบริการและพื้นที่ ให้ระบุสัดส่วนวิชาชีพที่เหมาะสมกับจำนวนผู้รับบริการ ในแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยให้สหวิชาชีพได้มีส่วนร่วมในการกำหนด เพื่อเป็นการให้บริการของสหวิชาชีพในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อจำนวนผู้รับบริการและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
- 137 views