เสนอ “ราชวิทยาลัย สภาวิชาชีพ และสมาคมทางการแพทย์” ออกแถลงการณ์สร้างความเข้าใจต่อสังคม หลังกระแสผู้ป่วยแห่ใช้กัญชารักษาสารพัดโรค บางรายหยุดรักษาตามมาตรฐานจนส่งผลกระทบ พร้อมสื่อถึงนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวน วางมาตรการ จัดกระบวนวิจัยและพัฒนากัญชาตามมาตรฐานสากล ก่อนสถานการณ์ขยายบานปลาย
จากสถานการณ์หลังการประกาศปลดล็อคกัญชาที่เกิดขึ้น ได้ปรากฏกระแสความวุ่นวายของการแจ้งครอบครองกัญชาและมีการใช้กัญชารักษาโรคจากการรับข้อมูลที่ไม่ชัดเจนจนเกิดผลข้างเคียงนั้น
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่แต่เฉพาะผลข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยเท่านั้น แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ป่วยนำกัญชามาใช้รักษาเช่นกัน ด้วยความเข้าใจผิดที่คิดว่ากัญชามีสรรพคุณสามารถใช้รักษาสารพัดโรคจนส่งผลต่อการรักษาตามมาตรฐานและขณะนี้เปรียบเหมือนกับไฟลามทุ่งที่อาจยากเกินควบคุม เฉกเช่นที่มีรายงานจาก International Narcotics Control Board (INCB) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้สหประชาชาติ ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมการใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้ จนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งจากการนำไปใช้เกินขอบเขตที่ควรใช้ ผลข้างเคียง และจากเรื่องอื่นที่เป็นผลกระทบจากการใช้กัญชา เช่น อุบัติเหตุจราจร อาชญากรรม การค้าขายสารเสพติด รวมถึงปัญหาทางจิตเวชต่างๆ
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงได้เสนอให้ราชวิทยาลัยต่างๆ และสภาวิชาชีพ รวมถึงสมาคมทางการแพทย์ ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนวิชาชีพในเรื่องกัญชา ชี้แจงต่อสังคมให้ชัดเจนว่าการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์นั้น โรคใดที่สามารถรักษาได้จริงและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ แนะนำให้ใช้รักษาโรคได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีบางราชวิทยาลัยได้เคลื่อนไหวออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนแล้ว อาทิ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ที่ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และล่าสุดได้มีแถลงการณ์โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วปัจจุบันกัญชาได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถใช้ในการรักษาได้เพียงไม่กี่โรค ทั้งยังไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา ประกอบกับการทดลองผลทางคลินิกยังเป็นการเทียบเคียงผลกัญชากับยาหลอกเท่านั้น ยังไม่มีการเปรียบเทียบกับยารักษาตามมาตรฐานจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่ากัญชาสามารถใช้รักษาได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการพูดถึงแม้กระทั่งคนที่ออกมาสนับสนุนการนำกัญชามาใช้รักษาโรคก็ตาม มักนำเสนอข้อมูลด้านเดียวหรือไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมตามมาได้
“วันนี้ถึงเวลาที่ราชวิทยาลัย สภาวิชาชีพและสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ หรือแม้แต่แพทยสภา ต้องออกมาช่วยกันเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมว่า การนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ นั้น มีการใช้กันจริงหรือไม่ ปรากฎหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันแค่ไหน มั่นใจได้แค่ไหน และหากนำมาใช้รักษาได้จะเป็นการใช้ลักษณะใด ใช้กับคนไข้ใดได้บ้าง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับกัญชามีมากมาย ทั้งยังสับสน ประกอบกันคนอ่านที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพเพียงพอก็หลงเชื่อได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดและซื้อหาผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้จนเกิดผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งผู้ป่วยบางรายยังหยุดการรักษาตามมาตรฐาน นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล และมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มขึ้น”
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า แถลงการณ์แสดงจุดยืนขององค์กรวิชาชีพทางการแพทย์มีความสำคัญมาก นอกจากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม และมีความน่าเชื่อถือในฐานะเสาหลักทางวิชาการของประเทศและของแต่ละวิชาชีพแล้ว ยังสื่อไปถึงนายกรัฐมนตรี กระตุ้นเตือนรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทบทวน ไตร่ตรอง และจัดกระบวนการพัฒนาและวิจัยสารสกัดจากกัญชาให้อยู่ในระบบมาตรฐานสากล และหาแนวทางลดผลกระทบจากความเข้าใจผิด ข้อมูลเท็จและอื่นๆ ในสังคมอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้นโยบายปลดล๊อคกัญชาเพื่อการแพทย์เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
- 19 views