รัฐต้องชั่งน้ำหนักข้อมูลวิชาการให้ดีระหว่างการนำผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพของประชาชน กับผลกระทบทางสังคมที่จะตามมา... หรือจะสร้างนโยบายแบบตามก้นฝรั่งอีกเช่นเคย?

คำถามสำคัญที่ควรคิดคือ

หนึ่ง จากประสบการณ์ในต่างประเทศ กลุ่มใดกันแน่ที่มาซื้อผลิตภัณฑ์นี้เป็นหลัก?

ใช่คนที่ดื่มเหล้าเบียร์อยู่ก่อนแล้วหรือไม่? หากใช่ นี่อาจเป็นสินค้าทดแทนและช่วยคนลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้ หรือเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่? ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน วัยรุ่น คนทำงาน ผู้หญิง ฯลฯ ที่ริอยากลองดื่ม เอาโก้ เอาเท่ หรือดื่มเพราะจะได้ไม่ถูกว่าหรือตีตราว่าติดแอลกอฮอล์

หรือหนักไปกว่านั้น หากกลายเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมลูก ที่เข้าใจว่าดื่มผลิตภัณฑ์นี้ได้เพราะปราศจากแอลกอฮอล์? โดยหารู้ไม่ว่า อาจยังมีการเจอปนอยู่ ดังที่มีรายงานวิจัยในต่างประเทศพบอย่างชัดเจน อันอาจส่งผลต่อทารกทั้งในครรภ์ หรือที่รับน้ำนมจากแม่ได้ ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลมากพอว่าจะส่งผลมากน้อยเพียงใดก็ตาม

สอง ผลกระทบโดยรวมต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากการอนุญาตให้มีผลิตภัณฑ์นี้ จะเป็นเช่นไรในระยะยาว? และหากมีโอกาสเกิดผลเสียตามมา จะคุ้มค่าจริงไหม กับการได้ภาษีจากการขาย แต่ต้องแลกมาด้วยงบที่ต้องไปซ่อมแซมสุขภาพและงบที่ต้องไปแก้ไขปัญหาสังคม รัฐจะมีกลไกจัดการป้องกัน ควบคุม และแด้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร?

ข้อสองนี้ยังหมายรวมไปถึงเรื่องอื่น เช่น กัญชา กัญชง กระท่อมอีกด้วย ความเสี่ยงต่อปัญหาสังคมระยะยาวนั้น ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ระวังถูกปั่นให้ตัดสินใจ โดยมีกิเลสมาครอบงำ ไม่ว่าจะกิเลสจากเงิน วิชาการ หรือความกลัวโรคภัยไข้เจ็บ ความเสื่อมของสมองและอวัยวะ รวมถึงความตายก็ตาม

ตรรกะวิบัติที่ถูกนำมาใช้ได้ผลอยู่เรื่อยๆ ในสังคมคือ "สิ่งนี้เลวน้อยกว่าสิ่งเดิม สิ่งเดิมยังมีอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งนี้จึงควรอนุญาตให้มีในสังคมเช่นกัน" ขอให้คิดให้รอบคอบก็แล้วกัน

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย