กระทรวงสาธารณสุข จัดมหกรรม พลังคน พชอ. สร้างอำเภอสุขใจ คนไทยใส่ใจดูแลกัน คนอำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ขับเคลื่อน 2,454 โครงการในปี 2562 มอบเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี มี 4 ประเภท 13 รางวัล

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรม “พลังคน พชอ.” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทั่วประเทศ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กว่า 1,500 คน พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ พชอ./พชข.ที่ประสบผลสำเร็จในการดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ 13 รางวัล

นพ.สุขุม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และภาคส่วนต่าง ๆ ได้บูรณาการการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ตามแนวคิด “พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง” มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนดูแล ซึ่งกันและกัน หลังจากดำเนินงานครบ 1 ปี พบว่า พชอ. สามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม เกิดชุมชนสุขภาวะ เมืองสุขภาพดี เป็นสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน เกิดระบบการบูรณาทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาขยายผลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามบริบทในพื้นที่แต่ละอำเภอ

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในปี 2561 ดำเนินงานครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 878 อำเภอ 50 เขตในพื้นที่กทม. และปี 2562 พชอ. มีแผนขับเคลื่อน 2,454 โครงการ ใน 8 ประเด็น มากที่สุดได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุ การกำจัดขยะและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การลดอุบัติเหตุ อาหารปลอดภัย การดูแลแม่และเด็ก วัยรุ่น โรคไม่ติดต่อ ยาเสพติด และโรคติดต่อ

“ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จนประสบความสำเร็จ เกิดเป็นวัฒนธรรม “คนไทยใส่ใจดูแลกัน” “คนอำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกัน” เกิดเป็นอำเภอสุขใจ เป็นสัญลักษณ์ของพลังความดี ขอให้รักษามาตรฐานที่มีคุณภาพนี้ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป” นพ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ รางวัลที่มอบเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี มี 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 13 รางวัล ดังนี้

1.รางวัลอำเภอสุขใจ มอบให้กับคณะทำงานระดับอำเภอ จำนวน 3 รางวัล

รางวัล “อำเภอสุขใจ” อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

รางวัล “อำเภอสุขใจ” อ.ด่านซ้าย จ.เลย

รางวัล “อำเภอสุขใจ” อ.ลานสกา ดินแดนแห่งความสุข จ.นครศรีธรรมราช

2.รางวัลโครงการสร้างพลังชีวิต มอบให้กับโครงการต้นแบบในอำเภอ ชุมชนต่างๆ ที่โดดเด่นจำนวน 3 รางวัล

รางวัล “โครงการสร้างพลังชีวิต” โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอห้วยกระเจา คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อ.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

รางวัล “โครงการสร้างพลังชีวิต” โครงการเครือข่ายพระคิลานุปัฎฐาก เนื้อนาบุญแห่งพรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

รางวัล “โครงการพลังชีวิต” พลังคนรุ่นใหม่ร่วมแก้ไขปัญหาชุมชน ชุมชนมุสลิมบ้านซีโปใน ต.โฆษิต อ.ตากใบ จ. นราธิวาส

3. รางวัลฟันเฟือง พชอ. มอบให้กับบุคคลที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของระบบคุณภาพชีวิตระดับอำเภออย่างโดดเด่น มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง/สาธารณสุข/เอกชน/ประชาชน/อสม.ฯลฯ จำนวน 4 รางวัล

รางวัล “ฟันเฟือง พชอ.” ป้าน้อย อินทอง ชาวบ้านชุมชนวังไทร ต.ทับช้าง อ.นาทวี จ.สงขลา ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนบ้านวังไทร

รางวัล “ฟันเฟือง พชอ.” นายแปลก เทพรักษ์ นายอำเภอหนองแค จ.สระบุรี

รางวัล “ฟันเฟือง พชอ.” นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

รางวัล “ฟันเฟือง พชอ.” นายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์

4.รางวัลนวัตกรรมพอเพียง (เพื่อคุณภาพชีวิต, นวัตกรรมเพื่อชีวิต, นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต) ให้กับนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาที่ถูกคิดค้นโดยคนในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งหรือร่วมกันของคน พชอ.จำนวน 3 รางวัล

รางวัล “นวัตกรรมพอเพียง” นวัตกรรมความร่วมมือ สะอาดตา สะอาดใจ เมืองขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

รางวัล”นวัตกรรมพอเพียง” “คลังสมองคนหลังสวน” ทีมคลังสมองภาคประชาชน โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร

รางวัล”นวัตกรรมพอเพียง” โครงการภูมิปัญญากับการดูแลผู้สูงอายุ ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

รางวัลสำหรับหน่วยงานหรือบุคคลได้รับการคัดเลือก

- โล่รางวัลจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงสาธารณสุข

- เงินรางวัล 30,000 บาทต่อรางวัล

- ประกาศนียบัตร