กระบวนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้ว แม้ปัจจุบันจะยังไม่เห็นผลเป็นรูปร่างที่ชัดเจน แต่ก็ได้ปูรากฐานและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตจะมุ่งไปในทิศทางใด
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กำหนดไว้คือการยกเครื่องระบบสารสนเทศด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่ง "นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย" หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้ขยายความถึงเรื่องดังกล่าวว่า โดยหลักการแล้ว เป้าหมายการปฏิรูปก็เพื่อวางระบบสารสนเทศด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนทำให้ประชาชน สังคม ประเทศ มีความรู้และปัญญาในการจัดการปัญหาสุขภาพ ฟังดูอาจจะเป็นคำกว้างๆ ซึ่งหากพูดให้ละเอียดขึ้นอีกคืออยากเห็นการจัดการระบบข้อมูลเชื่อช่วยแก้ปัญหาระบบบริการ ทั้งการทำข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ลดเวลา ลดภาระให้บุคลากร
นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย
ขณะเดียวกัน ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่ดียังควรส่งต่อข้อมูลไปถึงประชาชน ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไปโรงพยาบาล ข้อมูลการรักษาก็อยู่ที่โรงพยาบาล ไปคลินิกข้อมูลก็อยู่ที่คลินิก หรือไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ข้อมูลส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ รพ.สต. แต่ถ้าอยากดูข้อมูลในภาพรวมกลับทำไม่ได้ หรือกรณีไปหาหมอที่หนึ่งแล้วจะส่งต่อไปอีกที ผลแล็ปก็ไม่ตามไปด้วย หมอที่โรงพยาบาลใหม่ก็ต้องไปตรวจใหม่ เป็นทั้งภาระต่อผู้ป่วยและระบบ
ส่วนในระดับของโรงพยาบาลต่างๆ ก็อยากเห็นภาพการนำระบบดิจิทัลมาพัฒนากระบวนการปฏิบัติการ (Digital Transformation) ให้คล่องตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายเรื่องถ้าไม่ต้องเขียนไม่ต้องจดก็น่าจะดีขึ้น เช่น เวลาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกไปเยี่ยมบ้าน ไปวัดความดัน ก็ต้องจดข้อมูลใส่กระดาษกลับมาส่งให้ รพ.สต.คีย์ข้อมูล เสียเวลาหลายขั้นตอนและอาจเกิดความผิดพลาดได้หลายจุด ถ้าสามารถวางระบบสกรีนนิ่งต่างๆ ที่เป็นอัตโนมัติ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า Digital Transformation ซึ่งรวมไปถึงการปรับระบบบริการ ลดขั้นตอนกระบวนการอีกหลายๆ อย่างด้วย และถ้าพูดถึงภาพรวมของประเทศ ระบบสารสนเทศก็ต้องเชื่อมโยงออกไปนอกกระทรวงสาธารณสุขด้วย ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดอื่นหรือแม้แต่ภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ เคลื่อนไป
"เป้าหมายเราคืออยากมีทั้งหมดหลายๆ อย่างที่กล่าวมานี้ ถ้าบอกว่าปัจจุบันสามารถโอนเงินถอนเงินผ่านมือถือได้หมดแล้ว แต่พอเป็นด้านสาธารณสุข เวลาจะเอาประวัติการรักษา ผู้ป่วยต้องเดินทางไปหลายที่ ต้องเซ็นแบบฟอร์ม ฯลฯ หรือกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม้ผลแล็ปไม่เปลี่ยนแปลง เวลาไปรับยาก็ยังต้องรอพบแพทย์ เข้าคิวรอรับยา ซึ่งในอนาคตระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่ดีก็น่าจะมีบทบาทช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้มากขึ้น หรืออย่างระบบหมอครอบครัวที่ทำงานเป็นทีมก็ต้องมีการสื่อสารเชื่อมโยงปรึกษาหารือกันทั้งแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพเพื่อวางแผนดูแลผู้ป่วยแต่ละราย ก็ต้องมีระบบการจัดการข้อมูลเหล่านั้นให้สามารถทำงานได้" นพ.ปิยะ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาระบบที่มีในปัจจุบันจะพบว่าสามารถรองรับความท้าทายข้างต้นได้ในระดับหนึ่ง แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายก็ยังมีความยากลำบากพอสมควร เพราะในภาพรวมยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันในหลายๆ ด้านว่าข้อมูลที่ดีควรประกอบด้วยอะไร วิธีการจัดการข้อมูลควรทำอย่างไร เพราะถ้าระบบต่างกัน ซอฟต์แวร์ต่างกัน การลงรหัสไม่เหมือนกันก็ไม่สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันได้ หรือถ้าตกลงกันได้ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกว่าข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจะเชื่อมที่ไหน จะเอาไปรวมกันหรือต่างคนต่างเก็บ เวลาจะใช้ก็ค่อยดึงมา ฯลฯ รวมทั้งการมีระเบียบหลักเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่จะมาช่วยสนับสนุนงานด้านนี้
"สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในระบบสารสนเทศสุขภาพที่ต้องมีการวางระบบ มีกฎระเบียบ มีกฎหมายให้รองรับในสิ่งที่อยากเห็นข้างต้นได้" นพ.ปิยะ กล่าว
นพ.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์กลางหรือมาตรฐานกลางเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานร่วมกันได้ เปรียบเหมือนโทรศัพท์มือถือมีหลายยี่ห้อ มี OS หลายแบบ แต่ทุกยี่ห้อมีมาตรฐานเดียวกัน 3G 4G 5G มีวิธีการส่งข้อมูลแบบเดียวกัน มีหลักเกณฑ์กลางที่ชัดเจน ถ้าระบบสารสนเทศสุขภาพทำแบบนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดในอนาคตก็สามารถมีผู้ประกอบการ มี Start up เข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ตรงกลางที่ชัดเจน ผู้ประกอบการก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่จะเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆได้หรือไม่
นพ.ปิยะ ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นคานงัดสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าสามารถวางโครงสร้างของระบบได้ดี สิ่งที่จะนำไปต่อยอดก็จะง่ายขึ้น สมมุติเช่น ต่อไปนี้ถ้าผู้ป่วยยินยอม มีการลงชื่อ ตรวจสอบได้ชัดเจน บริษัท Start Up สามารถไปดึงข้อมูลตรงนั้นตรงนี้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ก็จะเกิดการพัฒนาให้นำข้อมูลมาตอบโจทย์ผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้มากขึ้น โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลที่มีระบบชัดเจน มีกลไกเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวชัดเจน ดีกว่าระบบปัจจุบันที่แม้อยากพัฒนาก็ไม่รู้จะไปหาใคร แต่ละโรงพยาบาลก็ใช้ซอฟต์แวร์ต่างกัน ไม่มีกฎหมาย ไม่มีระเบียบรองรับ
"ดังนั้น เราต้องลงแรงเยอะหน่อยในการ Set up โครงสร้างพื้นฐานตรงกลาง นี่เป็นเป็นสิ่งที่อยากให้เกิด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้เกิดตรงนี้ มันไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เป็นการพัฒนาระบบในภาพรวม ถ้าเราทำช้าก็จะเสียโอกาสไปเรื่อยๆ" นพ.ปิยะ กล่าว
ความท้าทายอีกประการของการยกเครื่องระบบสารสนเทศด้านสุขภาพคือเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้คือการมีเป้าหมายร่วมกัน มองเห็นภาพอนาคตร่วมกัน ตนคิดว่าคงไม่มีใครเห็นแย้งในเรื่องนี้ และถึงจะไม่เริ่มทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้ก็จะมีแรงผลักดันจากข้างนอกให้ต้องทำอยู่ดี
"ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะผลักดันง่ายกว่าอีกหลายๆเรื่อง ถ้าเทียบกับเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีคนเห็นต่างเยอะกว่าในเรื่องเป้าหมายในระยะยาว เพียงแต่การปฏิรูประบบสารสนเทศสุขภาพ ความซับซ้อนอยู่ที่ตัวผู้เล่น เรื่องบทบาทอำนาจของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในแผนปฏิรูปเรามองว่าควรมีกลไกกลางในระดับชาติมาจัดการ ถามว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ กระทรวงฯ ก็มีจุดได้เปรียบที่เป็นภารกิจหลักของกระทรวงอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับระบบบริการของกระทรวงฯ แทนที่จะเป็นระบบบริการของประเทศทั้งหมด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องเล่นบทบาทเป็นผู้ประสานงานที่เชื่อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในระดับประเทศเป็นหลัก แต่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ" นพ.ปิยะ กล่าว
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในส่วนของความคืบหน้าการปฏิรูประบบสารสนเทศสุขภาพในปัจจุบัน ทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำ Action Plan เพื่อดูว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ใครจะดำเนินการในส่วนไหนบ้าง อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันจะยังไม่มี Action Plan แต่เข้าใจว่าแต่ละภาคส่วนเริ่มดำเนินการแล้ว เพียงแต่อาจจะมองในส่วนของตัวเอง อย่างเช่นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งซึ่งดูเรื่องกฎหมายที่จะตั้งองค์กรหลักที่เป็นกลไกกลางระดับชาติ แต่อาจจะมองแค่ Data Sharing House การจัดการข้อมูลการเบิกจ่ายเป็นหลัก
ซึ่งตนมองว่าน่าจะให้น้ำหนักที่การจัดการเรื่องระบบสารสนเทศสุขภาพในภาพรวม โดยมีเรื่องข้อมูลการเบิกจ่ายเป็น Subset หนึ่ง หรือในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีความสนใจในเรื่อง Health IT มากขึ้น แต่ก็จะเน้นฝั่งโรงพยาบาล ทำ Smart Hospital, e-Record ขณะที่ส่วนที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตรงกลางยังไม่เห็นชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ หลังจากการมองที่การสร้างหลักเกณฑ์ มาตรฐานกลางเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบแล้ว ในส่วนของการพัฒนาระบบอะไรที่จะต่อยอดบนโครงสร้างเหล่านี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าควรทำอะไรก่อนหลังเพราะยังอยู่ในขั้นตอนการหารือในคณะทำงานร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปและกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็มีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ได้รีวิวดู เช่น ออสเตรเลียเพิ่งมี Action Plan ออกมาเมื่อปลายปีก่อน มีการวาง Pirority ว่าจะทำเรื่องอะไรซึ่งก็คล้ายๆกับที่เมืองไทยกำลังจะทำ คือ Personal Health Record ทำอย่างไรให้ทุกคนมีข้อมูลหลักด้านสุขภาพส่วนตัวที่ชัดเจน เช่น ชื่ออะไร แพ้ยาอะไร เบอร์ติดต่อฉุกเฉินเบอร์อะไร โรคประจำตัวอะไร พารามิเตอร์ของข้อมูลที่อยู่ในนี้ก็คงต้องคุยกัน รวมทั้งประเด็นที่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะแชร์กันอย่างไร ซึ่งเรื่อง Personal Health Record นี้น่าจะทำได้ผลเป็นรูปธรรมได้ใน 5 ปี
ขณะเดียวกัน การจะทำ Personal Health Record ได้ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Health Information Exchange เพื่อทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ การเข้าถึงข้อมูลนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงเท่ากัน อาจกำหนดเป็นระดับชั้น รวมทั้งว่าจะกำหนดว่าข้อมูลอยู่ไหน ที่บุคคล ที่โรงพยาบาล ที่จังหวัด หรือที่ศูนย์เทคโนโลยีของกระทรวง ตรงนี้ก็ต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร รวมทั้งการทำมาตรฐานข้อมูลในแต่ละเรื่อง เช่น มาตรฐานยา มาตรฐานโรค จะลงรหัสอย่างไร
นพ.ปิยะ กล่าวว่า อีกประเด็นที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงคือเรื่องการให้แต่ละหน่วยงานเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ หรือ Data Analytics เพราะปัจจุบันข้อมูลต่างๆมีในระบบอยู่แล้วเพียงแต่เป็นข้อมูลที่ออกแบบมาเรื่องรายงานสู่ส่วนกลาง แต่หลายๆเรื่องจะมีประโยชน์หากเอาไปพัฒนาระบบ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เวลามาตรวจแต่ละครั้งก็ดูผลแล็ปของครั้งนั้น ไม่ได้ออกแบบให้เป็นข้อมูลที่ต่อเนื่อง เป็นกราฟที่ดูเทรนด์ได้ ยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Data Analytics หรือในส่วนของการบริหารจัดการก็มีข้อมูลอีกเยอะที่ควรเอามาใช้ประโยชน์ ดังนั้นเรื่องนี้ก็ควรส่งเสริมพัฒนา รวมทั้งควรมีกลไกส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมให้คนนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคตนั้น ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าควรวางโครงสร้างพื้นฐานกลางก่อนแล้วค่อยต่อยอดพัฒนาระบบบริการอื่นๆ หรือทำไปพร้อมกัน โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าควรทำควบคู่กันไป เพียงแต่เวลาทำในส่วนที่เป็นแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมต่างๆ ก็ต้องมองภาพระยะยาว มองภาพการเชื่อมโยงให้ระบบสามารถเข้ากันกับระบบอื่นๆ ได้ตั้งแต่ต้น ถ้ามองเผื่อไว้ก็มีโอกาสเข้ามาเชื่อมโยงกันได้สูง กับอีกส่วนคือผู้เล่นหลักๆ โดยเฉพาะฝั่งกระทรวงสาธารณสุขก็คงต้องเน้นเรื่องการทำโครงสร้าง พัฒนาระบบพื้นฐาน และถ้าจะทำเรื่องแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการต่างๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นหนึ่ง Model หรือหนึ่งตัวอย่าง แต่อย่าไปคิดว่าเป็นอันเดียวที่ทุกคนต้องใช้ การทำเป็นตัวอย่างให้ดูแล้วหากออกมาดีก็พัฒนาต่อ แต่ถ้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เปิดโอกาสให้คนอื่นทดลองทำด้วยก็น่าจะดีกว่า
นพ.ปิยะ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า สิ่งเกิดขึ้นแล้วในขั้นตอนการยกเครื่องระบบสารสนเทศสุขภาพคือ 1.การสื่อสารในฝั่งภาครัฐมีความเข้าใจเป้าหมายในภาพรวมมากขึ้น 2.มีความพยายามทำแผนเพื่อเดินหน้าในเชิงโครงสร้างพื้นฐานในระดับหนึ่ง
3.ฝั่งของสถานบริการก็มีการพัฒนาในหลายๆแห่ง และกระทรวงเองก็มีแผนว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ ทั้งระบบ Digital Health Record, Smart Hospital แต่ยังจำกัดอยู่ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น และสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิรูปคือในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะส่วนอื่นๆ ค่อยๆ ทำไปได้ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานก็จะเป็นคอขวดอยู่แบบนี้
"ไม่ว่าจะการเมืองเปลี่ยนยังไง คิดว่าการวางแผนด้านสารสนเทศสุขภาพก็เป็นสิ่งที่เห็นตรงกัน เพราะมีผลกระทบเชิงลบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหลายๆเรื่อง และไม่ว่าแผนจะเปลี่ยนตามการเมืองอย่างไร เชื่อว่าเป้าหมายรวมไม่ต่างกันเพราะเป็นทิศทางในภาพรวมของทั้งโลกว่าต้องไปในทิศทางนี้ เพียงแต่เราจะเป็นคนที่อยู่กลางๆ แถวหรืออยู่ท้ายแถว ถ้าอยู่ท้ายแถว โอกาสที่จะพัฒนาประสิทธิภาพหรือทำประโยชน์ให้กับประชาชนก็จะน้อยลงไป" นพ.ปิยะ กล่าว
- 898 views