เปิดผลศึกษาผลใช้เงินลงทุนสสส. คืนกำไรสังคม 130 เท่า คุ้มค่าที่จะลงทุนทางสังคมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแถลงข่าว “การศึกษาผลตอบแทนทางสังคม(SROI) ของงานสสส.” โดยนพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะผู้แทนศึกษา SROI กล่าวว่า ผลการศึกษาผลตอบแทนทางสังคม หมายถึง การลงทุนมีผลลัพธ์เชิงปริมาณที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าทางการเงินได้ ซึ่งแปรเป็นผลทางเศรษฐกิจ ผลงานสังคม และผลทางสิ่งแวดล้อม เพื่อดูว่าจากการลงทุนทางสังคมสามารถทำให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคมอย่างไรนั้น คณะผู้วิจัยได้ศึกษาใน 7 ประเด็น แบ่งเป็น การวิจัยเชิงมหภาค ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ และการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติเหตุ การวิจัยเชิงวิเคราะห์รายแผน คือ กิจกรรมเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การออกกาลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ โครงการด้านการบริโภคอาหาร โครงการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โครงการด้านผู้พิการและผู้สูงอายุ และ โครงการด้านเด็กและเยาวชน
การสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นภาระโรคที่สำคัญใน 10 อันดับแรก หรือคิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้าน หรือประมาณร้อยละ 2.36 ของ GDP ของประเทศในปี 2553 ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า ต้นทุนที่ สสส. ใช้ในแผนงานนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปี 2553 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท โครงการที่ทำโดย สสส. สามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต (Avoidable death) จากอุบัติเหตุทางถนนได้เกือบ 7 หมื่นคน ทำให้สามารถประหยัดเงินจากการสูญเสียชีวิตได้เกือบ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ จากการศึกษาการวิจัยเชิงมหภาคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ 1 บาทคืน 130 บาท และ ยาสูบ 1 บาท เท่ากับ 130 เท่า คืน 18 บาท เท่ากับ 18 เท่า เป็นที่สังเกตว่า ถือเป็นการลงทุนเชิงนโยบายที่ได้รับการตอบแทนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยแต่ละโครงการมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการทำโครงการที่ไม่เท่ากัน ทำให้ได้ผลตอบแทนแตกต่างกัน แต่โดยรวมถือว่า เป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนไป ซึ่งควรพัฒนาการดำเนินโครงการที่มีอยู่หรือโครงการที่ลงทุนไปแล้วเพื่อให้เกิดผลในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนด้านอุบัติเหตุ จำนวน 1.4 พันล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 130.21 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท การลงทุนด้านการบริโภคยาสูบ จำนวน 1.4 พันล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 18.34 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท การลงทุนด้านการออกกำลังกาย จำนวน 2 ล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 6.19 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท การลงทุนด้านการบริโภคอาหาร จำนวน 130 ล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 13.49 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท การลงทุนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 49 ล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 95.03 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท การลงทุนด้านเด็กและเยาวชน จำนวน 97 ล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 669 ล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 6.87 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท และการลงทุนด้านผู้สูงอายุ จำนวน 21 ล้านบาท ได้รับผลลัพธ์คิดเป็นมูลค่า 62 ล้านบาท เท่ากับผลตอบแทนทางสังคมได้รับ 2.95 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท
"บางโครงการพบว่าใช้งบประมาณในการทำโครงการน้อย เช่น โครงการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีการเปลี่ยนกฎระเบียบในเชิงนโยบาย เช่น เรื่องตู้น้ำดื่ม หม้อก๋วยเตี๋ยวปลอดภัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่ทำให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งประเทศ ทำให้ได้รับผลทางสังคมคืนมาทำให้ความคุ้มทุนมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า ในการทำโครงการของแผนอาหาร ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การลดขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม การโน้มน้าวให้คนใกล้ชิดลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงได้ ทั้งนี้ มูลค่าผลลัพธ์ทางสังคมจะเป็นตัวการันตีให้สังคมว่า คุ้มค่าในการลงทุนทางสังคมในการใช้เงินในการสร้างเสริมเสริมสุขภาพ ซึ่งรัฐสามารถนำไปประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนได้" น.ส.วรวรรณ กล่าว
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com
- 14 views