นสพ.มติชน : "ศึกกระทรวงหมอ" ดุเดือดไม่จบ ตั้งแต่ปี 2557 ยันปีใหม่ 2558 จนถึงบัดนี้ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย รวมทั้งชมรมแพทย์ชนบทออกมาเรียกร้อง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงข้อกังวลเรื่องการจัดสรรงบประมาณบัตรทองแบบใหม่
และวิตกว่า โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทั่วประเทศ จะยุติการทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558
เครือข่ายดังกล่าวอ้างว่า หากคำสั่งดังกล่าวมีผล เด็กเกิดใหม่ปีละกว่า 8 แสนคน และผู้มีสิทธิว่าง หรือกลุ่มเปลี่ยนสิทธิอีกปีละ 4 ล้านคน จะได้รับผลกระทบ
เรื่องนี้ ศ.นพ.รัชตะ ต้องเรียก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าหารือ พร้อมตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อหากลไกรองรับ หากมีการยกเลิกหน่วยขึ้นทะเบียนบัตรทองจริงๆ
แว่วว่า งานนี้ ศ.นพ.รัชตะ เรียก นพ.ณรงค์ และ นพ.วินัย หารือด่วนหลังออกมาจากทำเนียบรัฐบาล
จริงๆ แล้วเรื่องการขึ้นทะเบียนบัตรทองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีจุดเริ่มจากความขัดแย้งทางความคิดของ สป.สธ. และ สปสช. ในแง่การบริหารจัดการ
ความคิดดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในยุคปลัดณรงค์ สมัย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรี สธ. การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขครั้งนั้น ได้แบ่งการบริหารออกเป็นเขตสุขภาพ
แบ่งอำนาจให้ สธ. ทำหน้าที่ควบคุมนโยบาย ส่วน สปสช. ให้ทำหน้าที่ "ผู้ซื้อบริการ" ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ และหนึ่งในการแยกบทบาทหน้าที่ดังกล่าว คือ การเสนอให้ยกเลิกหน้าที่ สปสช. สาขาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพราะหลายบทบาทไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริการ
ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
เพียงแต่ ขณะนั้น ยังคงให้ สสจ. ทยอยมอบหน้าที่ต่างๆ ให้ สปสช. ดำเนินการ
หนึ่งในหน้าที่ที่ทยอยมอบ คือ "การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
แหล่งข่าวระดับสูง สธ. ให้ข้อมูลว่า ปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงมองว่าตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และมีการก่อตั้ง สปสช. ทำให้อำนาจและบทบาทของ สป.สธ.ลดลง
ในสมัย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัด สธ. ต้องการให้ สธ.กลับมามีบทบาทมากกว่าหน่วยงานตระกูล "ส." แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ ความหวังจึงมาอยู่ที่ปลัดณรงค์เห็นได้จากการเสนอให้ปรับการบริหารเป็นเขตสุขภาพ แม้รูปแบบการบริหารจัดการแบบเขตจะเป็นเรื่องดี สามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้
แต่ปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้ง และจุดชนวนคือ การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวกว่าแสนล้านบาทตามเขตสุขภาพ
ฝ่าย รพ. ให้เหตุผลว่า การจัดการแบบเขตจะทำให้การบริหารตรงจุด แก้ปัญหา รพ.ขาดทุน แต่ บอร์ด สปสช. ไม่อนุมัติ
จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
"ในเรื่องของคำสั่งที่ขอให้ยุติการขึ้นทะเบียนบัตรทองที่โรงพยาบาลนั้น จริงๆ แล้วในระดับผู้บริหาร ไม่ได้ต้องการกดดัน สปสช.เรื่องการจัดสรรงบแบบใหม่ แต่น่าจะเป็นความผิดพลาด ที่เข้าทางกลุ่มที่คัดค้านข้อเสนอ สป.สธ.พอดี" แหล่งข่าวกล่าวนพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัด สธ. และที่ปรึกษา นพ.ณรงค์ ปลัด สธ. เห็นว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นมาจากข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
ฝ่าย รพ. มองว่า ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรเงินของ สปสช.ที่ไม่เอื้อต่อความเป็นจริง
ขณะที่ฝ่าย สปสช. ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบผ่านเขตสุขภาพ แต่ต้องการให้คงรูปแบบการจัดสรรแบบเดิม
เรื่องนี้จบไม่ยากเพราะการทำงานของ สปสช. ต้องผ่านบอร์ดเป็นผู้พิจารณา
บอร์ดดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีปลัด และมี สปสช. กับภาคส่วนต่างๆ เป็นกรรมการ
หากต้องการออกมาในรูปแบบใดขอให้บอร์ด สปสช.พิจารณาและชี้ขาดให้ชัดไปเลย ไม่ใช่ให้กลับไปพิจารณาหาตัวอย่างทุกครั้ง เพราะเรื่องนี้มีข้อมูลแล้ว
ขอให้การประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ตัดสินใจให้เด็ดขาด เพราะเมื่อมีมติออกมา ทุกฝ่ายก็พร้อมรับฟัง
"ส่วนความขัดแย้งอื่นๆ มองว่า เป็นเรื่องปลีกย่อย ปัญหาสำคัญคือการจัดสรรงบฯแบบใหม่ต้องไปหาข้อยุติ แต่ในเรื่องการร้องเรียนขึ้นทะเบียนบัตรทองนั้น เรื่องนี้ยังไม่มีผลกระทบอะไร และยังมีเวลาในการหากลไกอยู่ จริงๆ หากหันหน้ามาคุยกัน ทุกอย่างก็จบได้"นพ.วัลลภกล่าว
ทาง ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า จุดเริ่มมาจากความไม่เข้าใจเรื่องข้อมูล เพราะ สป.สธ. นำเสนอข้อมูลเรื่องการบริหารจัดสรรงบของ สปสช. ชุดหนึ่ง ส่วน สปสช. มีข้อมูลอีกชุด
ตอนนี้ได้ตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" มี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นประธานว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการตั้งคณะกรรมการชุดนี้เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการ มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน ซึ่งเคยตั้งมา แต่ได้ยุติบทบาทไปก่อนหน้านี้ เพราะขณะนั้นเป็นความพยายามดูปัญหา รพ.ขาดทุน แต่ชุดนี้เป็นการดูในส่วนข้อมูลของ สธ.และ สปสช.ที่ไม่ตรงกัน
สำหรับคณะกรรมการที่ ศ.นพ.รัชตะแต่งตั้ง ประกอบด้วย 1.ดร.อัมมาร สยามวาลา 2.น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ 3.นายปิยะ หาญวรวงศ์ชัย ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 4.รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย และ 5.รองเลขาธิการ สปสช.ที่ได้รับมอบหมาย
ดร.อัมมาร ให้ความเห็นว่า จะเรียกประชุมเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายว่าแตกต่างกันอย่างไร แต่จะไม่พิจารณาว่าข้อมูลไหนถูกหรือผิด เพราะนอกเหนือหน้าที่ สิ่งสำคัญต้องมาพิจารณาว่า ข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณ เช่น เงินที่ สปสช.จ่ายลงไปยังสถานพยาบาลกับเงินที่ทางสถานพยาบาลได้รับตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกันแสดงว่ามีข้อผิดพลาดหรือมีอะไรผิดปกติ ตรงนี้ต้องนำเสนอกับทาง รมว.สธ.
ส่วนปัญหาที่ว่าทั้ง 2 หน่วยงานมีความขัดแย้งกัน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการเพราะหน้าที่ของคณะกรรมการคือการพิจารณาข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย หากยังขัดแย้งกันก็ช่วยอะไรไม่ได้
ขณะที่ "นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จริงๆ ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น แก้ได้ไม่ยาก แค่หันหน้ามาพูดคุยกันอย่างแท้จริง ทุกอย่างก็จะคลี่คลาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558
- 9 views