เครียด หดหู่ ขาดแรงใจในการทำงาน หรือที่เรียกว่าภาวะหมดไฟ (Burnout syndrome) ไม่ว่าจะอาชีพไหนหรือใครก็ต้องเคยประสบทั้งสิ้น แต่สำหรับแวดวงสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกากำลังเข้าขั้นวิกฤติ เมื่องานวิจัยชี้ว่าแพทย์กำลังอยู่ในภาวะหมดไฟมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญกว่านั้นคือภาวะหมดไฟของพวกเขาส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ในการรักษา โดยเรียกร้องให้ทุกองค์กรและสถานพยาบาลในสหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาวะให้แก่บุคลากรของตนโดยเฉพาะ
ขอบคุณภาพจาก www.doctorsanonymous.co.uk
17 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปิดเผยงานวิจัยในหัวข้อ ’วิกฤติสาธารณสุข: ข้อเรียกร้องให้ดำเนินการกับแพทย์ที่มีภาวะหมดไฟ’ (A CRISIS IN HEALTH CARE: A CALL TO ACTION ON PHYSICIAN BURNOUT) โดยจัดทำร่วมกับสถาบันสาธารณสุขโลกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Global Health Institute) และสมาคมการแพทย์แห่งแมสซาชูเซตส์และสมาคมโรงพยาบาลและสุขภาพแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Medical Society and the Massachusetts Health and Hospital Association: MHA) รายงานว่า สภาวะหมดไฟของบุคลากรทางการแพทย์เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการแก้ไขเมื่อสุขภาวะที่ดีของแพทย์ เชื่อมโยงกับคุณภาพและผลลัพธ์ต่อการรักษาผู้ป่วย
จากผลสำรวจของ Survey of America’s Physicians Practice Patterns and Perspectives พบว่า 78 เปอร์เซ็นต์จากแพทย์ที่ได้ทำการสำรวจ ทั้งหมดล้วนเคยประสบกับภาวะหมดไฟมาก่อน ทั้งยังพบว่าแพทย์ที่มีภาวะดังกล่าวมีแนวโน้มจะตัดสินใจยุติบทบาทอาชีพของตัวเองง่ายกว่าเพื่อนร่วมงานในสาขาอื่นๆ
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพทย์เผชิญกับภาวะหมดไฟนั้น งานวิจัยอธิบายว่ามาจากระบบบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกออกแบบมาไม่ได้เหมาะสมต่อการใช้งาน หรือระบบการประเมินผลและตรวจวัดต่างๆ ที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งหมดส่งผลให้งานของแพทย์เพิ่มขึ้นและนำมาสู่ภาวะหมดไฟในที่สุด
ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวแพทย์หรือคนไข้เท่านั้น หากยังไม่มีหน่วยงานใดตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐ (Department of Health and Human Services) ชี้ว่า ในปี 2025 สหรัฐอเมริกาอาจขาดแคลนแพทย์มากถึง 90,000 คน สืบเนื่องจากภาวะหมดไฟ เหนื่อยล้าจากการทำงานที่มากเกินไปและอาจส่งผลให้สถานพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการว่าจ้างแพทย์เพื่อทดแทนมากถึง 500,000 - 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
“เราต้องการให้สถานพยาบาลหรือองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะหมดไฟของบุคลากรตัวเอง ทั้งจำเป็นต้องรีบสำรวจ วินิจฉัยและหาทางแก้ไขให้กับผู้ที่มีภาวะหมดไฟโดยเร็ว เพราะเราจำเป็นต้องดูแลแพทย์รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนให้พวกเขาได้มีสุขภาวะที่ดี เสริมสร้างพื้นที่ทำงานที่เป็นสุข” Alain Chaoui หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวทิ้งท้าย
- 84 views