บอร์ด สปสช. เห็นชอบงบกองทุนบัตรทองปี 2563 จำนวน 1.99 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.82 แสนล้านบาท อัตรา 3,784 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ งบนอกรายการเหมาจ่ายรายหัว 1.73 หมื่นล้านบาท พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์และปรับปรุงกองทุน 15 รายการ ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ - เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 และกรอบภาระงบประมาณปี 2564 ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. ซึ่งมี นางดวงตา ตันโช ผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2563 ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวได้เสนอจำนวน 182,658.48 ล้านบาท หรือ 3,784.57 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ คำนวณประชากรผู้มีสิทธิ 48.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรรอยู่ที่จำนวน 166,445.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น จำนวน 16,213.26 ล้านบาท หรือ 358.01 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ โดยปัจจัยการปรับเพิ่มงบประมาณเป็นผลจากต้นทุนบริการ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ค่ายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร ปริมาณการใช้บริการ สิทธิประโยชน์ใหม่ และการเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐจำนวน 49,832.58 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณเข้าสู่กองทุนจำนวน 132,825.90 ล้านบาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2563 คณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอรายละเอียดดังนี้
1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,632.58 ล้านบาท
2. งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,537 ล้านบาท
3.งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง (เบาหวานและจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,291.66 ล้านบาท
4.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท
5.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,025.55 ล้านบาท
6.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 284.18 ล้านบาท
เมื่อรวมรายการงบนอกเหมาจ่ายรายหัวแล้ว คิดเป็นงบประมาณจำนวน 17,261.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต้นทุนการบริการ ปริมาณการใช้บริการ ขอบเขตบริการและนโยบายที่เพิ่มขึ้น และปี 2563 นี้ยังได้เพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการะบาดในภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 45.02 ล้านบาท เมื่อรวมกับข้อเสนองบประมาณทั้ง 3 ส่วนนี้ รวมเป็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น จำนวน 199,964.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 181,584.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18,380.68 ล้านบท หลังหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐเป็นงบเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 150,132.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15,863.07 ล้านบาท
ทั้งนี้ข้อเสนองบประมาณในปี 2563 เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดสำหรับข้อเสนอนโยบายงบประมาณเงินกองทุนปี 2563-2564 เชื่อมโยงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559, ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี, พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ผลรับฟังความเห็นฯตามมาตรา 18 (13) ปี 2560-2561 และนโยบาย รมว.สาธารณสุข และบอร์ด สปสช.ตลอดจนผลการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ, มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นไปตามร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พรบ.วินัยทางการเงินการคลัง พ.ศ. 2561
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อเสนองบประมาณเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชนเพื่อการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ซึ่งมี 15 สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2563 นี้ ได้แก่
1.บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยากันชัก Carbamazepine ป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง สตีเวนส์ จอห์นสัน
2.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี
3.บริการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัย และบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ
4.เพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าถึงยาราคาแพง บัญชียา จ.(2) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ เส้นประสาทที่เกิดจากการทำลายปลอกมัยอิลินชนิดเรื้อรัง และผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน
5.นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์
6.บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate care) ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลัง
7.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยหมอครอบครัว
8.บริหารจัดการ่วมระหว่างหน่วยบริการ อปท. ชุมชนและครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกลุ่มอายุ และกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม
9.ติดตามค่าน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจในผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กทุกราย
10.นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
11.นำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
12.เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น
13.การเพิ่มโอกาสได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องในประชาชนชาว กทม.
14.การขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ
และ 15.เพิ่มการให้วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงเด็กอายุ 2-18 เดือน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ บอร์ด สปสช.ยังรับทราบการจัดทำกรอบงบประมาณกองทุนฯ ปี 2564 โดยได้นำเสนอกรอบงบประมาณจำนวน 210,868.52 ล้านบาท แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 192,813.79 ล้านบาท หรือ 3,975.87 บาทต่อประชากร และงบค่าบริการอื่นนอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 18,054.73 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อ ครม. รับทราบพร้อมข้อเสนองบประมาณปี 2563 ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร. 1330
- 17 views