"รศ.พญ.ประสบศรี" ชี้ ป่วยฉุกเฉินของสิทธิบัตรทองหมายรวมถึงฉุกเฉินในมุมของผู้ป่วยด้วย ไม่ต้องถึงระดับสีแดงก็รับบริการที่ห้อง ER ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องรอคิวให้หมอรักษาผู้ป่วยหนักก่อน หรือเลือกจ่ายเงินรับบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการก็ได้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการเก็บค่าบริการรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการว่า กรณีนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนว่านอกเวลาราชการคือเวลาของผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช่เวลาของคนที่อยากจะมารับบริการเมื่อไหร่ก็มาได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแตกต่างจากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการตรงที่คำว่าฉุกเฉินในระบบบัตรทองจะครอบคลุมไปถึงความฉุกเฉินในมุมของคนไข้ด้วย หมายถึงให้เข้าใจถึงความรู้สึกของคนไข้ด้วยเพราะว่าบางครั้งคนไข้ไม่เข้าใจว่าอะไรคือฉุกเฉิน ดังนั้นถ้าคิดว่าอาการที่ตัวเองเป็น เป็นปัญหาฉุกเฉิน ก็สามารถใช้บริการได้

"ห้องฉุกเฉินเปิดให้สำหรับทุกสิทธิแต่ต้องเฉพาะที่เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในกรณีคนไข้สิทธิอื่นที่ไม่ใช่บัตรทอง มีเฉพาะคนไข้สีแดงที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองจะคลอบคลุมไปถึงสีเหลืองและเขียวด้วย เป็นกติกาที่มีตั้งแต่ตอนเริ่ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่ากรณีฉุกเฉินของคนไข้บัตรทอง เรารวมถึงความฉุกเฉินที่คนไข้พิจารณาด้วย" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในการรับบริการในห้องฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยคิดว่าฉุกเฉินจริงๆ เช่น ปวดท้องแล้วคิดว่าเป็นปัญหาฉุกเฉิน แต่ถ้ามาโรงพยาบาลแล้วทางโรงพยาบาลบอกว่ายังไม่ใช่ฉุกเฉินสีแดง อาจเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว คนไข้ก็จะไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการแต่ต้องเข้าระบบการจัดลำดับความสำคัญที่ว่าคนไข้ฉุกเฉินสีแดงต้องได้รับการดูแลก่อน และเมื่อให้บริการแล้วจะเรียกเก็บเงินไม่ได้

"แต่ไม่ใช่ว่าคนไข้บอกว่ากลางวันฉันไม่ว่าง ฉันจะมาเวลานอกราชการ มารับบริการตามใจฉันไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือมีอาการและคิดว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินจึงขอมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน ต้องนั่งคอยตามการจัดลำดับความเร่งด่วนของคนไข้ ถ้าคนไข้เดินเข้ามาบอกว่าจะขอทำแผล แบบนี้คงไม่ใช่ฉุกเฉิน หรือเพิ่งเลิกงานเลยจะมาตรวจ แบบนี้ก็ไม่ใช่ ก็ต้องไปคลินิกนอกเวลาราชการที่มีการคิดเงิน หรืออีกอย่างคือนั่งรอที่ห้องฉุกเฉินจนกระทั่งคนไข้ฉุกเฉินหมดก่อน แล้วค่อยทำแผล แบบนี้ก็ไม่ต้องคิดเงิน ถ้าถูกคิดเงินก็มาอุทธรณ์คณะกรรมการควบคุมฯ ของ สปสช.เพื่อขอเงินคืนได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามประชาสัมพันธ์กับโรงพยาบาลว่าหลังหมดเวลาราชการแล้วไม่ใช่ทุกเคสจะต้องเก็บเงินหมด ต้องเข้าใจด้วยว่าสิทธิบัตรทองไม่เหมือนกับประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการอย่างไร" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โรงพยาบาลเปิดคลินิกนอกเวลาและถ้าคนไข้บัตรทองไม่อยากใช้เวลารอคอยบริการที่ห้องฉุกเฉิน จะไปใช้คลินิกพิเศษนอกเวลาก็สามารถไปรับบริการได้ จุดนี้เป็นความยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วย ซึ่งเท่าที่ประสบพบเจอมาพบว่าการเปิดคลินิกนอกเวลาราชการเช่นนี้ ชุมชนในพื้นที่เห็นด้วย 100% เพราะได้รับทราบว่าโรงพยาบาลมีงานในห้องฉุกเฉินหนักมาก ต้องแบ่งเบาภาระออกไปให้หมอห้องฉุกเฉินดูเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินจริงๆ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มากมาย ค่ายา ค่าตรวจ ฯลฯ ยังอยู่ในสิทธิ์ทั้งหมด เพียงแต่จ่ายเพิ่มในส่วนของค่าพิเศษที่ต้องจ้างหมอ พยาบาล มาอยู่เวรนอกเวลาราชการเท่านั้นเอง ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเปิดบริการคลินิกนอกเวลาคู่ขนานไปกับห้องฉุกเฉินและได้รับผลตอบรับที่ดี ประชาชนชื่นชอบอย่างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แจง กรณี รพ.แยกรักษาไม่ฉุกเฉินนอกเวลา ถือเป็นทางเลือกให้ ปชช. แต่สิทธิบัตรทองยังอยู่

แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ

สธ.ยืนยัน โรงพยาบาลเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้