บอร์ด สปสช.เห็นชอบตั้งคณะทำงานทบทวนการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น “กรณีทำหมันแล้วท้อง” พร้อมพ่วงศึกษาและวิเคราะห์ทบทวน ม. 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หลังบังคับใช้ 15 ปี แก้ข้อขัดเย้ง ให้กฎหมายมีความชัดเจน ถูกต้องตามหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ด้าน กก.บอร์ด สปสช.ผู้แทนภาคประชาชน ห่วงทำหลักการและเจตนารมณ์ ม.41 เปลี่ยน เสนอตั้งทีมวิชาการเก็บข้อมูลและศึกษาสถานการณ์ก่อนเดินหน้า
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธาน ได้มีวาระการพิจารณา “ข้อเสนอแนวทางการทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ในกรณีการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด” เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการประชุม Policy Dialogue เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานตามข้อเสนอ ประกอบด้วย ผู้แทนจากบอร์ด สปสช. 5 คน, คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน 5 คน, ผู้แทนจากแพทยสภา 1 คน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 คน ไม่เพียงแต่พิจารณากรณีทำหมันแล้วท้อง แต่ให้เพิ่มเติมการทบทวนและพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ให้มีความชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย และให้กลับนำมาเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาต่อไป
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีการทำหมันแล้วท้องและการเสนอทบทวนมาตรา 41 การช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ หากไม่ทำอะไรเลยก็จะยังคงมีเสียงค้านเหมือนเดิม รวมถึงในมาตรา 42 ที่มีการเสนอให้ตัดออกแต่ไม่เคยทำได้ แล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็จะเข้ามาชี้ให้หาผู้รับผิดชอบเหมือนเดิมอีก เรื่องนี้จึงต้องมองอนาคต โดยนำนักกฎหมายเข้ามาทบทวน และดูความเป็นไปได้ทั้งทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช. กล่าวว่า ในประเด็นการช่วยเหลือเบื้องต้นมาตรา 41 กรณีทำหมันแล้วท้อง หลังจากที่มีการพิจารณาในที่ประชุม Policy Dialogue นอกจากการนำเข้าสู่การพิจารณโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขแล้ว ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ และมีมติว่าคณะทำงานที่จัดตั้งนี้ ไม่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นการทำหมันแล้วท้องเท่านั้น แต่เห็นควรให้ทบทวนการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ทั้งหมด เนื่องจากมีการบังคับใช้มา 15 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีประเด็นที่ยังเห็นแย้งและเห็นต่าง
นางสุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน กล่าวว่า กรณีการตั้งคณะทำงานชุดนี้และให้ขยายถึงการทบทวนและพิจารณาแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมาตรา 41 ทั้งหมด ส่วนตัวกังวลว่าจะเป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมาตรา 41 มีความสำคัญในการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์และผู้รับบริการ การทบทวนอาจทำให้หลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
น.ส.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์การเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี เสนอต่อที่ประชุมให้มีการตั้งทีมวิชาการลงไปเก็บข้อมูลและศึกษาสถานการณ์อย่างเป็นระบบก่อน เพราะหากไม่ให้ใช้มาตรา 41 ในการช่วยเหลือเบื้องต้นนอกจากการรักษาพยาบาลเท่านั้น อาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตได้ ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาของคณะทำงานอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ดี
พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนแพทยสภา กล่าวว่า กรณีทำหมันแล้วท้องเป็นความทุกข์ของแพทย์ทั่วประเทศ เราเข้าใจถึงการทำหมันถาวรแล้วท้อง แต่ขณะนี้ได้ลามไปถึงทำหมันไม่ถาวรแล้ว และกลายเป็นกติกาว่าหากทำหมันแล้วท้อง ไม่ว่าถาวรหรือไม่ถาวรก็จะได้การช่วยเหลือตามมาตรา 41 จึงอยากให้ทบทวน ทั้งเรื่องนี้ยังเป็นพยาธิสภาพมากกว่าสุดวิสัย ส่วนการทบทวนมาตรา 41 มองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมหลังบังคับใช้มา 15 ปีแล้ว มีประเด็นอะไรที่ถูกท้วงติงถึงเวลานี้ต้องทบทวนแล้ว ยังไม่พูดถึงการแก้กฎหมาย
- 308 views