2 อนุกรรมการกองทุนบัตรทอง เตรียมเสนอ บอร์ด สปสช. ชงรัฐบาลหนุนงบกลางเพิ่ม 3.6 พันล้านบาท รับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ตามข้อมูลคาดการณ์การแพร่ระบาดกรมควบคุมโรค และอ้างอิงค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมค่าตรวจ ค่ารักษา ค่ายา ค่าห้อง และชุดป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ หนุน รพ.ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ไม่กระทบดูแลผู้ป่วยอื่นตามงบบัตรทองในระบบปกติ
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน (วาระพิเศษ) โดยมี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร และนางดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างข้อเสนอประเภทและขอบเขตบริการ งบประมาณ และหลักเกณฑ์ แนวทางการดำเนินงานและบริหารการจ่ายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อยู่ในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มอบให้ “คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต” พิจารณารายละเอียดมาตรฐานและแนวทางบริการ และ “คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน” พิจารณาแหล่งงบประมาณและกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินงาน วิธี เงื่อนไข และอัตราการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการนำมาสู่การประชุมครั้งนี้
ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องสิทธิการรับบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. 2563 ครอบคลุมทั้งการป้องกันโรคสร้างเสริมสุขภาพ คัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยเตรียมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนามต่อไป ขณะที่การเตรียมงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) เพื่อรองรับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ประมาณการณ์ตามข้อมูลการระบาดของกรมควบคุมโรคทั้งในระยะที่ 2 และ 3 โดยผู้ป่วยร้อยละ 70.8 เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง และได้ทำการคำนวณโดยอ้างอิงค่าใช้จ่ายการดูแลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด-19 ค่าห้องควบคุมและค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ชุด PPE) และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ รวมเป็นงบประมาณที่ต้องเตรียมรองรับจำนวน 4,649 ล้านบาท
ด้าน นางดวงตา กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 1,020 ล้านบาท มาจากรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของกองทุนบัตรทองตามที่บอร์ด สปสช. ได้มีการอนุมัติไปแล้ว ส่วนงบประมาณที่เหลือจำนวน 3,629 ล้านบาท คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรเสนอต่อ บอร์ด สปสช. เพื่อขอให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางสนับสนุนเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปีงบประมาณ 2563 นี้
“การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นสถานการณ์ไม่ธรรมดา การระดมทรัพยากรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติการแพร่ระบาด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ป้องกัน และยารักษา รวมถึงงบประมาณ โดยงบประมาณนี้จะเป็นส่วนสนับสนุนให้หน่วยบริการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลโดย สปสช. จะจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยในระบบปกติ ที่ประชุมยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพราะด้วย 3 กองทุนมีหลักเกณฑ์การจ่ายที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ ขณะเดียวกันยังลดความยุ่งยากการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วยด้วย”
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ในการให้อำนาจประธานกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นผู้อนุมัติโครงการหรือกิจกรรม จากเดิมที่เป็นอำนาจคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุขแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดรายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดรายการของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่จำเป็นเพื่อรองรับการจัดบริการหรือสนับสนุนบริการผู้ป่วยนอกบริการผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกรณีโรคโควิด-19 เป็นค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในพื้นที่ เครื่องมือและอุปกรณ์รองรับการดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาต่อไป
พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร
- 27 views