“สารี อ๋องสมหวัง” หนุน กก.ระดับสูงหน่วยงานแสดงบัญชีทรัพย์สิน ช่วยสร้างความโปร่งใส ควบคุมทุจริตคอรัปชั่น แนะต้องมีกลไกช่วยหนุน กก.ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งจาก ป.ป.ช.และหน่วยงาน พร้อมนระบุ กรณี 4 กก.สปสช.ลาออกถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่อยากยุ่งยาก วุ่นวาย แสดงบัญชีทรัพย์สิน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระหลายคน ทั้งสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมลาออกหลายคน ภายหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศให้ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ในส่วนของตนเองมีความเห็นต่อเรื่องนี้ 3 ประเด็น คือ
1.กรรมการระดับสูงของหน่วยงานในประเทศนี้ควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะต้องช่วยกันสนับสนุนการสร้างความโปร่งใส การป้องกันทุจริตและคอรัปชั่น รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบ ซึ่งจากการทำงานในบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา หากถามว่ามีอะไรที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ ก็คงไม่มี เพราะว่าในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากกรรมการท่านใดมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะออกการพิจารณาก่อน
2.ความเข้มแข็งของ ป.ป.ช.ในการจริงจังกับการใช้ข้อมูลที่ได้รับหรือกรณีการพบทุจริตที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังให้เห็นผล ซึ่งจะทำให้มีผู้สนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งที่ผ่าน ป.ป.ช.ยังไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีความเข้มแข็งและใช้ข้อมูลที่ได้เหล่านี้เพื่อป้องกันและควบคุมการทุจริตอย่างไร
ยกตัวอย่างกรณีการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินในรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบพบบางคนมีทรัพย์สินถึง 300 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร ไม่มีการจัดการอะไร อาจเป็นเหตุทำให้คนไม่ค่อยสนับสนุนได้เพราะดูแล้วว่า เมื่อให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้วก็ไม่เห็นมีประโยชน์หรืออะไรเกิดขึ้น
3.หน่วยงาน และ ป.ป.ช.ต้องมีระบบรายงานที่ง่ายและเป็นมืออาชีพ เพื่อสนับสนุนและคอยอำนวยการทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการ ซึ่งจากการประกาศลาออกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ของนายดํารง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จากที่ได้ดูการชี้แจงผ่าน You tube ก็เข้าใจ เพราะตัวเองก็เคยมีประสบการณ์ที่พบปัญหาในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย เนื่องจากเราไม่ใช่ข้าราชการระดับสูง ไม่ใช่นักการเมือง บางครั้งเราก็จำกระบวนการและขั้นตอนช่วงเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้ เช่น ต้องยื่นหลังพ้นตำแหน่ง 30 วัน 1 ปี หรือ 3 ปี เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีกลไกที่มาคอยเตือนและสนับสนุน
เช่น ปัจจุบันตนเป็นกรรมการ สปสช. อยู่ ในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทั้ง ป.ป.ช. และ สปสช.ควรมีไทม์ไลน์ที่คอยเตือนกรรมการ สปสช.ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่เป็นการสนับสนุนการทำงานของกรรมการ เพื่อไม่ให้ทำผิดกติกา เพราะบางครั้งกรรมการอาจลืมได้ ไม่ได้มีเจตนาปกปิดที่จะไม่รายงาน ซึ่งกรณีของคุณดำรงระบุว่า ได้เคยเปิดบัญชีธนาคารไว้ในต่างจังหวัด แต่ก็ลืมไปจึงไม่ได้รายงาน ไม่ได้เจตนาที่จะไม่รายงาน ดังนั้น ป.ป.ช.เองต้องไม่หยุมหยิมกับประเด็นและรายละเอียดเล็กน้อยหล่านี้ โดยต้องดูจากเจตนาเป็นหลัก นอกจากนี้ควรปรับปรุงระบบเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินมีความง่ายและสะดวกในการจัดการ
“การลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการ สปสช.ทั้ง 4 คน เป็นสิทธิของแต่ละคน ซึ่งบางคนไม่อยากยุ่งยากวุ่นวายในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงถอนตัว เพราะประกาศฉบับใหม่นี้ครอบคลุมไปถึงครอบครัวและลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะเป็นเหตุกระทั่งทำให้คนไม่อยากเข้ามาทำงาน หรือหาคนมาทำหน้าที่ไม่ได้เลยนี้ มองว่าประเทศคงไม่ขาดแคลนขนาดนั้น แต่ในฐานะกรรมการระดับสูงของหน่วยงานต้องสนับสนุนกระบวนการป้องกันการทุจริต ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น” กรรมการ สปสช. กล่าว
- 58 views