เครือข่ายหมออนามัย เร่งชี้แจงการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 พร้อมเชื่อมั่นทุกภาคส่วนร่วมใจ ผู้บริหารกำชับ - ติดตาม- สั่งการลงพื้นที่ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น ชี้ให้เห็นเป็นผลงานกระทรวง ชวนคนเลิกบุหรี่ได้ตามเป้าหมาย
10 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น – ในการประชุมขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 จัดโดยมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชันปีที่ 3 ด้วยการเชิญชวนคนละ ละ เลิกการสูบบุหรี่ ให้เกิดความต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือ ตลอดชีวิต ให้ได้จำนวน 3 ล้านคนในเวลา 3 ปี (ปี 2559 – 2562) ซึ่งผลการดำเนินงาน 2 ที่ผ่าน ข้อมูลเว็บไซต์ quitforking.com และ ระบบ 43 แฟ้มของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานมีผู้เข้าร่วมเลิกบุหรี่ ประมาณ 1.2 ล้านคน มีผู้เลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ประมาณ 2.1 แสนคน และในเดือนพฤษภาคม 2562 มีคนสมัครใจเลิกบุหรี่ให้ได้ 3 ล้านคนตามเป้าหมาย
นายธาดา วรรธนปิยกุล
นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 3 การทำงานจะเน้นหนักไปที่ระดับพื้นที่ที่เป็นจุดแตกหัก คือ สาธารณสุขอำเภอ / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ต้องมีความเข้าใจ มีระบบข้อมูลและพัฒนาวิธีการดำเนินงาน มีระบบการสื่อสารและเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการสร้างเสริมสุขภาพ เกิดแรงจูงใจและผลักดัน เสริมส่วนขาดในพื้นที่ที่การดำเนินงานที่ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยการออกแบบการขับเคลื่อนจากระดับอำเภอ (Creative Project) นำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายจากพื้นที่ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ติดตามให้กำลังใจผู้สมัครใจเลิกบุหรี่และควบคุมกำกับ ให้สามารถขับเคลื่อนสู่เป้าหมายร่วมกันได้
นายศัศวัต ไพรพงษ์
นายศัศวัต ไพรพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รองหน้ากลุ่มงานยาเสพติด- สุขภาพจิต สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงแม้ว่าปีแรกจะชวนคนเลิกบุหรี่ได้น้อยกว่าการคาดการณ์แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ที่มีกลไกการดำเนินงานที่ดีขึ้น ตรงเป้าหมายมากขึ้นก็ทำให้จำนวนคนเลิกสูบเพิ่มขึ้นตามมา จึงคิดว่าการที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็น PA ของกระทรวงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เดินมาถูกทางแล้ว เพราะการสั่งการจากแนวดิ่งลงไปยังผู้ปฏิบัติในพื้นที่จะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงชัดเจนว่านโยบายและแนวคิดผู้บริหารทุกระดับมีส่วนสำคัญยิ่ง ผนวกกับมีระบบรายงานตัวเลขลงใน 43 แฟ้ม ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการทำงานลง ซึ่งปีนี้ปีสุดท้ายของโครงการฯ เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด
นายนพดล เลี้ยงพรหม
นายนพดล เลี้ยงพรหม สาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี กล่าวว่า การทำงานปีแรกทยังไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจน ต้องอาศัยความร่วมมือจากรพ.สต. และอสม.ในพื้นที่ช่วยคัดเลือกคนสูบบุหรี่ เบื้องต้นเน้นที่ตัว อสม.เลิกก่อนค่อยขยายไปสู่ชุมชน โดยปีที่ 2 ขับเคลื่อนง่ายขึ้นเพราะมีต้นแบบคนเลิกได้แล้วไปชวนคนอื่นเลิกทำให้มีตัวเลขคนเลิกบุหรี่ แต่ก็ยังพบปัญหาคนที่เลิกแล้วกลับไปติดซ้ำ ปีที่ 3 นี้จะเน้นที่กลุ่มเยาวชนผนวกกับงานยาเสพติด โดย อสม.ช่วยเคลื่อน จนท.สาธารณสุขช่วยหนุนเสริม และรพ.สต.มีคลิกนิกช่วยเลิกบุหรี่ คิดว่าไม่เกินความพยายามให้สำเร็จ คาดหวังว่าปี 3 จะเข้มข้นขึ้น อยากให้สร้างเครือข่าย ศึกษาจากพื้นที่ที่ทำสำเร็จ มาเป็นต้นแบบการทำงาน ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านและ อสม. ซึ่งอยากให้ประชาชนเลิกบุหรี่เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกหลาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
นายอัษฎากริช วงศ์พระไกร
นายอัษฎากริช วงศ์พระไกร ผอ.รพ.สต. หนองเทาใหญ่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า ตำบลหนองเทาใหญ่เป็นตำบลจัดการสุขภาพ ได้ใช้การทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประชาชน ภาคีเครือข่าย ทำประชาคมหมู่บ้าน และบรรลุลงแผนตำบล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนกระตุ้นต่อเนื่องในการประชุมประจำเดือน ซึ่งงานบุหรี่ได้มีการคีย์ข้อมูลลง 43 แฟ้มอย่างต่อเนื่อง ส่วนปีที่ 3 จะเน้นไปที่กลุ่มเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มที่เลิกได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ เรามีการเข้าค่ายบำบัด ใช้งานประเพณีมาช่วย ลดละเลิก ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่บ่อยๆ ใช้ประชาคมเป็นตัวขับเคลื่อน จะลดปัญหา ความขัดแย้งต่างๆได้ อีกทั้งเรามีกลไก พชอ. มาช่วยหนุนเสริมยิ่งทำให้เข้าใกล้เป้าหมายมากยิ่งขึ้น ต้องให้กำลังใจคนทำงาน คนที่กำลังเลิก คิดว่าในปีนี้เราจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้การประชุมฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยสาธารณสุขอำเภอ / ผู้แทนระดับจังหวัด ที่ยังไม่ได้รับทุนดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 7, 8 รวม 11 จังหวัด จำนวนกว่า 80 คน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตามและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2561 เขตสุขภาพ 9 และ 10 ที่โรงแรมอัลวาเรซ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นลำดับต่อไป
- 40 views