“หมออุดมศักดิ์” เผย ผลวิจัยพิสูจน์สมมติฐาน “รักษาฟรี ทำประชาชนเข้ารับบริการเกินจำเป็นหรือไม่” พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.8 ระบุ มีความเจ็บป่วยต้องรับบริการ มีเพียงร้อยละ 0.6 เป็นการบริการโดยไม่จำเป็น ขณะที่แพทย์ ระบุมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 38.9 ที่จำเป็นต้องมารับบริการ ร้อยละ 13.6 ไม่จำเป็นต้องมารับบริการ สะท้อนมุมมองแตกต่างต่อความจำเป็นเข้ารับบริการไม่เท่ากัน ชี้เป็นผลจากความรู้ต่อโรคไม่เท่ากัน แนะ สธ. แพทยสภา สร้างความเข้าใจต่อแพทย์ พร้อมออกแนวปฏิบัติประชาชน ดูแลตนเองเบื้องต้นในกลุ่มโรคที่พบบ่อยและมีผลประเมินแตกต่าง
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากข้อโต้แย้งในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ระบุว่า การที่รัฐบาลจัดบริการรักษาฟรี ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติการเข้ารับบริการโดยไม่จำเป็น หรือเกินความจำเป็นจำนวนมาก ทั้งทำให้ผู้ป่วยไม่ดูแลสุขภาพตนเอง ส่งผลให้เกิดภาระต่องบประมาณทางสาธารณสุขของประเทศตามมา ขณะที่ฝั่งผู้ป่วยหรือประชาชนระบุว่าในการเข้ารับบริการ เนื่องจากมีความจำเป็นทางสุขภาพ เพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อโต้แย้งที่มีมายาวนานนี้ จึงได้เสนอทำงานวิจัย “โครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์” โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุน
ทั้งนี้ในการวิจัยได้มีการสอบถามความเห็นในฝั่งของแพทย์และประชาชนเพื่อทำการเปรียบเทียบ โดยมีการสอบถามความเห็นผู้ป่วย 1,060 ราย และแพทย์ 56 ราย จาก 6 โรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง โดยเก็บข้อมูลเฉพาะแผนกผู้ป่วยนอกทั่วไป ที่ผู้ป่วยตัดสินใจมารับบริการเอง ไม่ใช้กรณีแพทย์นัดล่วงหน้า และในการสำรวจความเห็นของแพทย์ ทางผู้วิจัยได้จัดทำเป็นแบบสอบถาม โดยให้แพทย์ตอบภายหลังจากทำการตรวจผู้ป่วยแล้ว เพื่อดูว่าแต่ละรายมีความจำเป็นหรือไม่
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ผลที่ได้จากการวิจัยเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยผู้ป่วยระบุว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาที่สูงกว่าแพทย์ คือร้อยละ 71.8 มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น คิดว่าเป็นการมารับบริการโดยไม่จำเป็น ขณะที่ในส่วนความเห็นของแพทย์ ได้มีการประเมินความจำเป็นการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่ต่ำกว่า โดยมีร้อยละ 38.9 เท่านั้นที่มีความจำเป็น และมีผู้ป่วยร้อยละ 13.6 ที่ไม่มีความจำเป็นต้องมารับบริการเลย
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของอัตราความเจ็บป่วยที่มีความเจ็บเป็นเข้ารับการรักษานั้น ผู้ป่วยระบุว่ามีความจำเป็นในการเข้ารับบริการสูงกว่าแพทย์ถึงร้อยละ 32.9 ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีข้อมูลความรู้ที่ไม่เท่ากัน โดยผู้ป่วยไม่มีความรู้เรื่องโรคและการรักษา ขณะที่แพทย์ผ่านการเรียนการสอนมาอย่างเข้มข้น ทำให้มองความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาไม่เท่ากัน โดยผู้ป่วยจะมีมุมมองความจำเป็นในการเข้ารับบริการมากกว่า นอกจากนี้ในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยเองยังคำนึงถึงปัจจัยอื่นนอกจากความเจ็บป่วย อาทิ ความพร้อมของผู้ดูแล ความพร้อมหน่วยบริการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ในงานวิจัยนี้ไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์ว่าผู้ป่วยมีการเข้ารับบริการที่เกินความจำเป็นหรือไม่ แต่มุ่งชี้ให้เห็นมุมมองในการเข้ารับบริการที่แตกต่างกัน สะท้อนในมุมมองของผู้ป่วย มุมมองของแพทย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อการเข้ารับบริการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา ควรนำผลการวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์และอธิบายให้แพทย์รับทราบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจมาใช้บริการเกินความจำเป็น แต่มุมมองต่อความจำเป็นของแพทย์นั้นแตกต่างจากผู้ป่วย ขณะเดียวกันในกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยๆ ควรมีการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในอาการที่ประชาชนและแพทย์มีการประเมินแตกต่างกัน ควรออกแนวทางปฏิบัติให้กับประชาชน เพื่อให้มีการดูแลตนเองเบื้องต้น
นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้มีคำถามถึงการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ เนื่องจากที่ผ่านมามีการระบุด้วยว่า การร่วมจ่ายจะทำให้อัตราการรับบริการที่ไม่จำเป็นนั้นลดลง และจากผลสำรวจพบว่า เมื่อมีการร่วมจ่ายแล้วไม่เพียงแต่ทำให้อัตราผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยไม่จำเป็นลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้อัตราผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับบริการลดลงไปด้วย โดยจำนวนที่ลดลงนั้นยังมีอัตราที่ใกล้เคียงกัน อาทิ ในกรณีร่วมจ่ายอัตรา 200 บาท/ครั้ง ในกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องเข้ารับบริการจะหายไป ไม่มารับบริการร้อยละ 32 ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมารับบริการจะหายไป ร้อยละ 38 โดยการร่วมจ่ายในระดับอัตราอื่นก็ไม่แตกต่างกันมากนัก และเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ประหยัดได้จากการลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นเข้ารับบริการ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพียง 0.6% เท่านั้น จึงไม่คุ้มค่าเนื่องจากก่อให้เกิดอุปสรรคต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการที่ต้องหายออกจากระบบไป
“ในความเป็นจริงแพทย์เองก็ทราบดีว่ามีผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยแต่มารับบริการ เช่น กรณีคนขาดงาน อ้างท้องเสีย มารับการรักษาเพื่อต้องการใบรับรองแพทย์ เป็นต้น แต่ก็มีไม่มาก เป็นเพียงส่วนน้อย และคงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมในการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดคนไม่จำเป็นเข้ารับบริการที่มีเพียงไม่ถึง 1% แต่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อน และเข้าไม่ถึงการรักษา ทั้งอัตราที่ประหยัดได้นั้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลต่องบประมาณประเทศ”
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีความกังวลต่องบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศนั้น เมื่อดูภาพใหญ่ของงบประมาณ ประเทศไทยใช้ไม่ถึงร้อยละ 6 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งหากดูในประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าไม่มีประเทศไหนใช้งบประมาณต่ำกว่าร้อยละ 8 ของจีดีพีเลย ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นมีสัดส่วนรายได้ที่สูงกว่าไทยอยู่มาก บางประเทศสูงกว่าไทยถึง 2 เท่า แต่เข้าใจว่าภาครัฐในฐานะคนจ่ายงบประมาณอาจดูว่ามาก แต่หากมองภาพรวมของประเทศนั้นไม่มาก ซึ่งไม่ถึงกับทำให้ประเทศต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายสุขภาพเพื่อประชาชน
ต่อข้อซักถามว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า การที่รัฐบาลจัดสวัสดิการรักษาฟรี ทำให้คนไทยดูแลสุขภาพลดลง นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับแล้วว่าไม่จริง คนไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมทำให้สุขภาพแย่ลงเพราะรักษาฟรี และหากดูกระแสสังคมขณะนี้ มีทั้งกระแสการออกกำลังกาย กระแสการวิ่งมาราธอน การวิ่งเทรล และกระแสการกินอาหารคลีน เป็นต้น ที่ล้วนแต่เป็นการดูแลสุขภาพทั้งสิ้น ขณะที่ผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติพบว่าอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ลดลง ซึ่งหากบอกว่ามีระบบรักษาฟรีแล้ว ทำให้คนไทยไม่ดูแลสุขภาพ กระแสเพื่อสุขภาพเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น
- 91 views