15 มี.ค.นี้จับตา คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเห็นชอบออกมาตรการห้ามจำหน่ายสุราสงกรานต์หรือไม่ เผยผลสำรวจ 70.1% เห็นด้วยงดขาย ชี้ช่วยลดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การลวนลาม รอลุ้นบังคับใช้ทันสงกรานต์ปีนี้
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึงมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ 13 เม.ย. และได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะประชุมและพิจารณาในวันที่ 15 มี.ค.2562 นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ขอสนับสนุนคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ออกมาตรการ 13 เม.ย.ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากข้อมูลที่ ศวส.ลงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสงกรานต์ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และสงขลา จำนวน 1,612 คน พบว่าประชาชน 70.1% เห็นด้วยกับมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย.โดยผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 90% (88.7%)เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แม้แต่ผู้ดื่มเกินกว่าครึ่งหนึ่ง 51.7% ยังเห็นด้วยกับมาตรการห้ามจำหน่ายดังกล่าว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การห้ามจำหน่ายจะช่วยลดอุบัติเหตุจราจร ลดเหตุทะเลาะวิวาท เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ลดพฤติกรรมลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศ และการลดความเดือดร้อนรำคาญจากพฤติกรรมคนเมา ตามลำดับ สำหรับเหตุผลอันดับแรกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการห้ามจำหน่าย คือ ทำให้งานสงกรานต์ไม่สนุก สำหรับมาตรการทางเลือก ได้แก่ การหยุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์เร็วกว่าเวลาที่อนุญาตตามปกติ พบว่าประชาชน 62.8% เห็นด้วย โดยที่ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่า ควรอนุญาตให้จำหน่ายได้ถึงเพียง 2 ทุ่ม และกว่า 80% เห็นว่าควรให้จำหน่ายได้ถึง 4 ทุ่ม นอกจากนี้ประชาชนกว่า 60% ยังเห็นด้วยว่ามาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลอื่นๆ เช่น ปีใหม่ หรือลอยกระทง
นอกจากนี้ประชาชนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 66.5% ยังมีความเห็นว่า ควรห้ามกิจกรรมการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การจัด event การจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งผู้ดื่ม 31.4% เห็นด้วยกับมาตรการห้ามการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน สำหรับความเห็นของประชาชนต่อการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบของงานประเพณีต่างๆ พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน งานศพ (80.2%) งานบวช (63.9%) และงานอื่นๆ (58.3%) ตามลำดับ
นายธีระ วัชระปราณี
ด้าน นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งทราบว่าจะมีการประชุมในวันที่15มีนาคมนี้ หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป อาจจะทันสงกรานต์ปีนี้ถ้ารัฐบาลเอาจริง แต่ด้านหนึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะออกมาบังคับใช้ไม่ทันในช่วงสงกรานต์ปีนี้ด้วยเช่นกัน มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีผลบังคับใช้จริงในปีหน้าเพื่อให้มีระยะเวลาปรับตัว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับมติในที่ประชุม
“คงต้องอาศัยความกล้าหาญของคณะกรรมการนโยบายฯ และรัฐบาลที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเราใช้ยาเดิมๆ มาโดยตลอดในการรับมือกับปัญหาสงกรานต์เมา ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือปัญหา คือปัจจัยร่วมที่สำคัญในการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ลวนลามคุกคามทางเพศ การไม่สามารถหาซื้อได้ หรือกินเท่าที่เตรียมการซื้อไว้ จะทำให้มีการวางแผนในการกินดื่ม ลดการเดินทางไปหาซื้อขณะที่อยู่ในอาการมึนเมา ต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรการนี้การกินดื่มไม่มีการห้ามแต่อย่างใด ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราถึงเวลาต้องทบทวนในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นจากน้ำเมา” นายธีระ กล่าว
- 6 views