กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชี้ แนวคิดให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองร่วมจ่าย 10-20% เป็นวิธีการที่ดีน้อยที่สุด ประหยัดเงินแค่หลักพันล้านแต่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยทำให้มารับบริการน้อยลง ย้ำถ้าจะเก็บจริงต้องเก็บเหมือนกันทุกกองทุนและต้องหาวิธีแก้ไขผลกระทบด้วย
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน ให้ความเห็นกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังมีแนวคิดลดสิทธิประชาชนที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง โดยคนที่มีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี สิทธิในบัตรทองควรลดลง เช่น อาจจ่ายเอง 10-20% ส่วนอีก 80-90% ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จ่าย ส่วนคนจนผู้มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาท/ปีซึ่งมีอยู่ 11.4 ล้านคน ยังคงสิทธิเดิมไว้ (ดูข่าว ที่นี่) โดย นพ.สุวิทย์ ระบุว่า วิธีการจ่ายดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดีน้อยที่สุด
นพ.สุวิทย์ อธิบายว่า ประเด็นแรก การมองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงมองในเชิงว่าเป็นสิทธิของประชาชนอย่างเดียว แต่ยังพิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพ 100 บาท จะได้ได้ผลตอบแทน 20 บาท เพราะมีผลที่ได้รับไม่เพียงแค่สุขภาพประชาชน แต่มีผลได้ในเชิงเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ โลจิสติกส์ ฯลฯ
ที่สำคัญคือธนาคารโลกประเมินแล้วพบว่าการที่ไทยลงทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่มีรายได้ระดับล่างสุด 20% มีอำนาจซื้อมากขึ้นทุกปีเพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้สำหรับสุขภาพ สามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มากขึ้น นอกจากคุณภาพชีวิตดีขึ้นยังทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่ประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ อำนาจการซื้อของคนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ลดลงเรื่อยๆ
“ดังนั้นข้อแรก ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากเป็นสิทธิแล้วยังเป็นการลงทุนด้วย งบประมาณต่างๆ ที่ใช้ไป ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ไม่ควรมองเป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ” นพ.สุวิทย์ กล่าว
ประเด็นต่อมาคือ เมื่อมองเป็นการลงทุน ก็เป็นคำถามว่าประชาชนควรร่วมลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการร่วมลงทุนหรือร่วมจ่ายมี 2 ประเภทคือ จ่ายก่อนป่วย และจ่ายหลังป่วย
“การจ่ายก่อนป่วยก็คือเบี้ยประกัน ขณะนี้มีเพียงประกันสังคมเท่านั้นที่มีเบี้ยประกัน บัตรทองและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไม่มี ถ้าจะมีเบี้ยประกันกับบัตรทอง ก็ควรมีเบี้ยประกันสำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย ถ้าให้บัตรทองจ่ายแต่ข้าราชการไม่ต้องจ่าย ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม และต้องจ่ายอย่างเป็นธรรม ใครรายได้มากก็จ่ายมาก ใครรายได้น้อยก็จ่ายน้อย นี่เป็นหลักการความเสมอภาค ถ้าทำก็ทำให้เหมือนๆ กัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว
ส่วนการจ่ายหลังป่วย ก็มีการจ่าย 3 แบบ 1.Co-payment หรือเรียกว่าค่าเหยียบแผ่นดิน (Co-payment) เข้าไปใช้บริการก็ต้องจ่ายทันที การจ่ายแบบนี้มีเฉพาะบัตรทอง ส่วนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกับประกันสังคมไม่มีค่าเหยียบแผ่นดิน
2.Deductible หรือจ่ายขั้นต่ำก่อนประกันจ่าย เช่น ค่ารักษา 1,000 บาท ถ้ารักษาไม่เกิน 1,000 ก็จ่ายเต็มตามจำนวนเงินจ่ายจริง แต่ถ้าค่ารักษา 1,500 บาท ก็จ่ายที่เพดาน 1,000 บาท อีก 500 ประกันจ่าย เป็นต้น ขณะนี้กองทุนสุขภาพในเมืองไทยยังไม่มีการจ่ายแบบนี้
3.Co-insurance หรือร่วมประกัน ซึ่งเป็นข่าวในขณะนี้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล 100 บาท ประกันจ่าย 90 บาท ผู้ป่วยจ่าย 10 บาท ระบบนี้ดีน้อยที่สุด การวิจัยทั่วโลกรวมทั้งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้โดย นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าการร่วมจ่ายแบบนี้ทำให้คนใช้บริการน้อยลง โดยที่คนจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่สำคัญคือการไปรับบริการที่น้อยลง เกิดทั้งกับบริการที่จำเป็นและไม่จำเป็น หรือพูดง่ายๆ ว่ายอมป่วยอยู่บ้านแม้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้บริการ
“เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวที่มีแถลงการณ์หรือยืนยันอย่างเป็นทางการจากกรมบัญชีกลาง เราก็ว่ากันไปตามข่าวและข้อมูลเชิงวิชาการ สมมติถ้าจะทำกับบัตรทอง ปัจจุบันรัฐใช้งบประมาณปีละ 180,000 ล้านบาทกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าจะให้ร่วมจ่าย 10% อย่างมากสุดก็ได้ 18,000 ล้านบาท แต่เมื่อไม่เก็บจากคนจนซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 10 ล้านคนจากจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 45 ล้านคน ก็หักออกไปอีก 25-30% เงิน 18,000 ล้านบาท ก็เหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท และยังมีอีกส่วนที่มีสิทธิแต่ไม่ใช้สิทธิ เช่น ไปใช้บริการหน่วยบริการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วควักเงินจ่ายเอง เมื่อหักลบออกไปอีก รวมๆ แล้วก็จะประหยัดงบประมาณได้ไม่มาก ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท” นพ.สุวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การประหยัดงบประมาณไปได้หลักพันล้านแต่มีผลกระทบทำให้คนระดับล่าง เช่น คนที่ไม่มีบัตรคนจน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ไปใช้บริการทั้งๆ ที่มีความจำเป็น แบบนี้จะเหมาะสมหรือไม่ และจะมีการแก้ไขผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ ถ้าจะเก็บ 10% จากบัตรทอง ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะเก็บ 10% เหมือนกันหรือไม่
“เพราะฉะนั้นหลักการง่ายๆ คือถ้าจะเก็บก็ต้องเก็บให้ทั่วถึง ทำให้เหมือนกันทั้ง 3 กองทุนและหาทางปกป้องคนยากคนจนให้ได้ ถ้าทำได้ มันก็น่าจะรับการยอมรับ และถ้าจะทำจริงๆ กรมบัญชีกลางควรจะเก็บจากสวัสดิการข้าราชการก่อน เพราะเป็นสิทธิที่กรมบัญชีกลางบริหาร ส่วนประกันสังคมต้องให้กระทรวงแรงงานพิจารณา ขณะที่บัตรทองก็เป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณา แต่ละระบบมีคนรับผิดชอบอยู่” นพ.สุวิทย์ กล่าว
- 145 views