ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่กำลังเป็นประเด็นน่าเป็นห่วง ไม่ว่าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจากรายงานสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 20 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมามีทั้งหมด 89,846 คนและในจำนวนทั้งหมดมีผู้เสียชีวิต 12 คน

สถานการณ์ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี สั่งกักเครื่องบินสายการบินเอมิเรสต์ เดินทางออกจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มายังนิวยอร์ก หลังพบผู้โดยสารซึ่งคาดว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากถึง 106 คน จากจำนวนทั้งหมด 521 คน โดยส่วนใหญ่มีอาการปวดหัว ไอและมีไข้

ขอบคุณภาพจาก theconversation.com

กลายเป็นประเด็นชวนให้หลายฝ่ายกังวล เพราะหากการระบาดของไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าที่คาดคิดนั้น โลกและองค์กรสาธารณสุขระหว่างประเทศมีมาตรการพร้อมรับมืออย่างไร?

เมื่อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ผลิตขึ้นมาได้ง่ายๆ เนื่องจากจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าไข้หวัดที่กำลังแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์ใดถึงจะสามารถผลิตได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนดังกล่าวถึง 2 เท่าในแต่ละราย

ทั้งหากต้องการป้องกันให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด ประชากร 1 ใน 3 ของโลกจำเป็นต้องได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) อีกด้วย เพราะยิ่งสัดส่วนของผู้มีภูมิคุ้มกันในประชากรมากเท่าไร โอกาสที่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะได้เจอกับผู้เป็นโรคก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อคำนวณจากตัวเลขดังกล่าว คาดการณ์ว่าโลกจำเป็นต้องมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำรองไว้สูงถึง 4.7 พันล้านโด๊ส ขณะที่ปริมาณวัคซีนซึ่ง WHO สำรองไว้ตามกรอบความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันไข้หวัดใหญ่ (pandemic influenza preparedness framework) ปี 2011 (พ.ศ.2554) มีปริมาณทั้งหมดเพียง 230 ล้านโด๊ส

เท่ากับว่า ปริมาณวัคซีนทั้งหมดต่ำเกินไปที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจน เนื่องจากประเทศเหล่านั้นยังจำเป็นต้องรอรับความช่วยเหลือหรือการบริจาควัคซีนจาก WHO เพราะไม่สามารถเข้าถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง

เมื่อองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวของประเทศเหล่านั้น ไม่อาจจัดหาปริมาณวัคซีนได้มากพอต่อการรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงกลายเป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ว่าโลกจะรับมืออย่างไร

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง เมื่อ WHO ทำข้อตกลงร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตวัคซีนเป็นที่เรียบร้อย โดยประเทศเหล่านั้นจะต้องจัดจ่ายวัคซีนในปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในประเทศตัวเองให้กับ WHO หากเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นจริง

ไม่เช่นนั้นแล้ว ประชากรโลกกว่าล้านคนจะต้องเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำประวัติศาสตร์อย่างไข้หวัดสเปนคร่าผู้คนไปมากถึง 100 ล้านคนอย่างแน่นอน

อ้างอิง:

https://theconversation.com/flu-plane-are-we-really-ready-for-a-global-pandemic-102789

https://www.bbc.com/thai/thailand-45267834