พนักงานแฮปปี้คนพิการแฮปปี้ด้วย ม.35 Happy Society Happy Workplace ทางเลือกในการส่งเสริมอาชีพคนพิการ แทนส่งเงินเข้ากองทุน สสส.เผยใน 4 ปี เกิดการจ้างงานเชิงสังคม ม.33, 35 ช่วยคนพิการมีงานทำ รวมกว่า 8,000 อัตรา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าปีละ 800 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.61 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “มาตรา 35 Happy Society … Happy Workplaceในงาน “Good Society Expo 2018 : เทศกาลทำดีหวังผล เริ่มต้นที่เรา”ว่า สสส.มีนโยบายลดความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเตรียมความพร้อมของคนพิการ ครอบครัวผู้ดูแลคนพิการ และการสร้างความเข้าใจ การชี้ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญกับสถานประกอบการ โดยเฉพาะสถานประกอบการในเครือข่ายประชารัฐเพื่อสังคม (E6)
ผลจากการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน สสส.ได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผ่านการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างเครือข่ายคนพิการ คนพิการ ภาครัฐ และ สถานประกอบการ ภายใต้การจ้างงานเชิงสังคมภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35 จนทำให้คนพิการสามารถการเข้าสู่การมีอาชีพมีงานทำได้ จำนวนกว่า 8,000 อัตรา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมากกว่าปีละ 800 ล้านบาท มีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานในพื้นที่จำนวน 1,773 หน่วยงานทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการ หลายภารกิจที่ สสส.เข้าไปส่งเสริม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลมากขึ้น
นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมกล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเกิดช่องว่างที่บริษัทไม่สามารถหาคนพิการเข้ามาทำงานได้ ขณะเดียวกันคนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานได้เช่นกันดังนั้น จึงเกิดทางเลือกใหม่โดยใช้ มาตรา 35 Happy Workplace เปลี่ยนเงินที่เคยส่งกองทุนฯ ส่งตรงไปยังคนพิการโดยตรง 100% เปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้านและมีอาชีพอิสระ สามารถพึงพาตนเองได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และถือเป็นการส่งเสริมภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทโดยตรงอีกด้วย
สำหรับโครงการ 35 Happy Society Happy Workplace ประกอบด้วย
1) Happy Relax ผ่อนคลายให้พนักงานโดย หมอนวดตาบอด
2) Happy Family บริษัทให้ทุนสร้างอาชีพเสริมแก่พนักงานที่มีบุตรพิการ
3) Happy Society เอื้อเฟื้อสถานที่ ติดตั้ง “ตู้ชื่นใจ” แล้ว 5% ของยอดขายเครื่องดื่มจาก “ตู้ชื่นใจ” จะไปช่วยคนพิการที่ขาดแคลน
ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่าการจ้างงานคนพิการไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่บริษัทต้องใส่ใจและออกแบบวิธีการที่เหมาะสม กลุ่มเซ็นทรัล จ้างงานคนพิการทางสายตา 16 อัตรา เรียกว่าHappy Relax จัดนวดผ่อนคลายให้พนักงานโดยหมอนวดตาบอด ใช้มาตรา 35 จ้างเหมาบริการเพิ่มสวัสดิการแสนเพลิดเพลินให้พนักงานได้ผ่อนคลาย โดยนำเงินที่เคยส่งเข้ากองทุนฯ(ม.34) มาจ้างเหมาบริการ(ม.35) แทนให้คนพิการทางสายตาได้มาบริการนวดผ่อนคลายถึงบริษัท ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อคน ทำให้พนักงานของเราผ่อนคลายขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น ถือเป็นประโยชน์ที่องค์กรได้รับโดยตรง แต่อีกมุมหนึ่งคือการได้ช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่เซ็นทรัลได้คนพิการมานวด พวกเขาได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี นอกจากนี้ ในปี 2561 กลุ่มเซ็นทรัล ได้จ้างงานคนพิการ” เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่คนพิการในพื้นที่ 9 จังหวัด จำนวน 199 คน ให้มีอาชีพที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
เสาวลักษณ์ ส่งเจริญ อายุ 41 ปี ผู้พิการทางด้านสายตา ปัจจุบันได้รับการจ้างงานจาก บริษัท ดีเคเอสเอช ประเทศไทย ภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำหน้าที่นวดแผนโบราณ เป็นเวลากว่า 2 ปี กล่าวว่า พิการทางสายตาตั้งแต่อายุ 12 ปี และได้เข้าเรียนในศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอด อ.สามพราน จ.นครปฐม มีความรู้ด้านการนวดแผนโบราณจนสามารถเปิดร้านเป็นของตัวเอง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้ต้องเลิกกิจการไป กระทั่งได้รับโอกาสจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมสนับสนุนให้มีงานทำในบริษัทเอกชน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวเดือนละ 9,125 บาท
“ดีใจที่ได้รับโอกาสให้มีงานทำ มีเงินเดือนใช้จ่ายของตัวเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระใคร ที่ผ่านมาสังคมเริ่มเข้าใจคนพิการทางสายตาที่ให้บริการนวดแผนโบราณมากขึ้น ทำให้ยืนหยัดในสังคมได้ดี คนที่มานวดก็ชอบ เพราะทำให้เขาหายปวดเมื่อย” เสาวลักษณ์ กล่าว
- 1104 views