กรมอนามัย-กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-WHO ร่วมขับเคลื่อน "เมืองสุขภาพดี" มอบรางวัลท้องถิ่น 274 แห่ง ทั่วประเทศ ผ่านการประเมินรับรองระดับทอง 67 แห่ง ระดับเงิน 69 แห่ง ระดับทองแดง 138 แห่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ตั้งเป้าให้มีไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง ในปี 2570
เมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และนายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง การยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่เมืองสุขภาพดี ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมด้วย ดร.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย รวมถึงผู้บริหารกรมอนามัย และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมงาน ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
โดย นพ.อรรถพล กล่าวว่า จากสถานการณ์การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการกระจายตัวของประชากรเชิงพื้นที่ไปยังเขตเมือง อีกทั้งสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ประกอบกับผลจากการประชุมส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 9 ที่ให้ความสำคัญกับประเด็น Healthy cities
กรมอนามัย จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการเมืองสุขภาพดี ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย
- สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ
- สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ
- ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี
พร้อมทั้งขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่เมืองสุขภาพดี โดยบูรณาการการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีเข้าไปในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) ด้วยการกำหนดเป็นตัวชี้วัดนำร่อง ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อผลลัพธ์นำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ชุมชนสามารถจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สถานประกอบกิจการได้มาตรฐาน ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และได้รับการส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัย รวมถึงเกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ โดยกำหนดเป้าหมายภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีเมืองสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ
ท้องถิ่น 274 แห่ง ผ่านประเมินรับรองเมืองสุขภาพดี
ผลการขับเคลื่อนดำเนินงานในปี 2567 กรมอนามัย ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเมืองสุขภาพดีในระดับพื้นที่ในการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่การเป็นเมืองสุขภาพดี จำนวนทั้งสิ้น 274 แห่ง โดยผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองจำนวน 67 แห่ง หรือ ร้อยละ 24.45 ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับเงิน จำนวน 69 แห่ง หรือร้อยละ 25.19 และผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองแดง จำนวน 138 แห่ง หรือร้อยละ 50.36 รวมทั้งได้ขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบเมืองที่อยู่อาศัย-เกษตรกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ จังหวัดฉะเชิงเทรา
การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐานเมืองสุขภาพดี และหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยมในการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนดำเนินงานยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี และเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการเมืองสุขภาพดีและขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรองรับการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน โดยการประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานส่วนกลางกรมอนามัย ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 550 คน
"การดำเนินงานมุ่งเน้นงานด้านส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) เมืองสุขภาพดีจะต้องเอื้อให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดีในทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงผู้สูงอายุ เช่น จัดพื้นที่ให้คนพิการหรือผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย กำจัดไข้เลือดออก และจัดการขยะในพื้นที่" นพ.อรรถพล กล่าวและว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาแต่ละพื้นที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่มีตัวชี้วัดเข้าไปช่วยประเมิน บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน
นพ.อรรถพล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เมื่อดำเนินงานเสร็จแล้วก็จบ ไม่ได้เก็บข้อมูล แต่ตอนนี้มีการนำข้อมูลมารวบรวมจนเห็นภาพรวมของทั้งเมือง ช่วยให้ออกแบบเมืองสุขภาพดีได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม ปรับปรุงช่วยเหลือกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลจะช่วยในการดูแลประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
- 283 views