เปิดข้อมูลคนพิการในไทย 2.2 ล้านคน เพียง 2% จบปริญญาตรี วัยแรงงาน 8.6 แสนคน แต่ไม่มีงานทำมากถึง 5.3 แสนคน สสส. สานพลัง พม.- กทม.- มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม จัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา “เด็กพิการเรียนไหนดี 68” ปลัด พม.เผยนโยบายสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยความพิการไม่เป็นข้อจำกัด 

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม ภาคีเครือข่าย จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี 68” มหกรรมแนะแนวการศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาสำหรับเด็กพิการจากทั่วประเทศ ครั้งที่ 10 สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้จริง เปิดมุมมองการศึกษาในหลากหลายด้าน และมีโอกาสในการประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยมีนโยบายด้านคนพิการ เพื่อ “สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยความพิการไม่เป็นข้อจำกัด” คือ 

1.จัดให้มีล่ามภาษามือครบทุกจังหวัด

2.ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ทั้งภาครัฐและเอกชน 

3.ขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อUpskill - Reskill คนพิการ 

4.พัฒนานวัตกรรมกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 

พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย “9 โครงการFlagship” โดยมี Flagship ที่ 3 สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง (คนพิการ ผู้สูงอายุ และสร้างต้นแบบนิคมสร้างตนเอง) และ Flagship ที่ 4 พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (การเข้าถึงสิทธิ Friendly Design)

“เด็กพิการทุกคนมีศักยภาพ และความสามารถเฉพาะตัวที่มีคุณค่า การศึกษาจึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการปลดล็อกศักยภาพเหล่านั้นช่วยให้เด็กพิการได้พัฒนาทักษะทั้งทางวิชาการและอาชีพ ทำให้สามารถยืนหยัดในสังคมและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของตนเอง รวมถึงอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนพิการและคนทั่วไป” นายอนุกูล กล่าว

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2567 พบไทยมีคนพิการ 2.2 ล้านคน ในจำนวนนี้จบปริญญาตรีเพียง 2% จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 94% จบการศึกษาทางเลือก และเข้าไม่ถึงการศึกษารวม 4% ขณะที่มีวัยแรงงาน 8.6 แสนคน แต่ไม่มีงานทำมากถึง 5.3 แสนคน

สถานการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม เพราะการศึกษามีผลต่อโอกาสการมีงานทำของคนพิการ ซึ่งภาครัฐและเอกชนยังมีอัตราการจ้างคนพิการเข้าทำงานอีกกว่า 30,000 อัตรา แต่อุปสรรคสำคัญคือ เด็กพิการ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งความยากจน การเดินทางสาธารณะ สถานศึกษา บุคลากรไม่พร้อมรองรับ ทำให้เด็กและเยาวชนที่พิการจำนวนไม่น้อยต้องหยุดเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้มีข้อจำกัดในการเลือกอาชีพ ส่งผลต่อรายได้ และกระทบต่อวิถีชีวิตโดยรวมของคนพิการอีกด้วย

นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. ส่งเสริมการจ้างงาน และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัยของเด็กพิการ เพื่อเป็นประตูด่านแรกในการก้าวสู่การมีอาชีพ รายได้ และสุขภาวะที่ดี โดยเปิดพื้นที่ให้เด็กพิการได้เจอกับผู้แทนสถาบันการศึกษา และหน่วยบริการนักศึกษาพิการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ซึ่งมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 26 องค์กร หน่วยการศึกษา 4องค์กร รวม 30 องค์กร สร้างการเรียนรู้ 3 ส่วน คือ 

1. เรียนอะไรดี เป็นการแนะนำแนวทางอาชีพและคณะที่เหมาะสมกับความสนใจของเด็กพิการ พร้อมคำแนะนำในการสร้าง Portfolio เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย 

2. เรียนที่ไหนดี รวบรวมข้อมูลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดรับเด็กพิการ 

3.เรียนอย่างไรดี บอกเล่าประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่เรียนต่อทั้งในมหาวิทยาลัยและสายการศึกษาทางเลือก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่รุ่นน้อง 

เพราะเด็กพิการทุกคนจะต้องมีสิทธิ มีโอกาสในการเรียนในสิ่งที่อยากเรียน เป็นในสิ่งที่อยากเป็น มีสิทธิทางการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป โดยการที่เด็กพิการทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของจากทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันหาแนวทางให้มากขึ้น เพื่อในอนาคตจะได้ไม่มีคำถามว่าเด็กพิการเรียนไหนดี และเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นได้ 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนพิการประมาณ 4,000 กว่าคน ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสังกัด กทม. และมีคนพิการที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขต 50 เขต กทม. ได้พัฒนาบุคลากรครูทุกคนให้สามารถจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนพิการสร้างอาชีพหรือมีงานทำในอนาคตได้ และพัฒนาเมืองให้คนพิการเดินทางสะดวก ปรับปรุงอาคารสถานที่ของกรุงเทพมหานคร ตามหลักการออกแบบสำหรับทุกคน หรือที่เรียกว่า Universal Design ส่งเสริมคนพิการให้เห็นว่าข้อจำกัดทางร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

ขอแค่คนพิการสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาเหล่านั้นได้ ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่

นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการจัดงานเด็กพิการเรียนไหนดี 68 คือสร้างโอกาสทางการศึกษา มีแหล่งรวบรวมข้อมูลทางการศึกษาที่เข้าถึงได้จริง เพื่อให้เด็กพิการได้ค้นพบเส้นทางการเรียนที่ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือการเตรียมตัวสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย

มหกรรมฯ ในปีนี้ มีกิจกรรม Workshop ปั้นพอร์ตแนะแนวแฟ้มสะสมผลงานนำเสนอมหาวิทยาลัย และเทคนิคปั้นคำ เตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ พร้อมพัฒนาบุคลิกภาพ โดยรุ่นพี่นักศึกษาพิการที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีบูธจากองค์กร โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกว่า 30 แห่ง ที่พร้อมตอบทุกข้อสงสัยให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจเด็กพิการเรียนไหนดีและเพจนับเราด้วยคน