สสส.เผยคนพิการ 95% เผชิญความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ทั้งขาดแคลนอุปกรณ์-ค่าบริการอินเทอร์เน็ต กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ขาดโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพ-สวัสดิการรัฐ-การศึกษา-พัฒนาอาชีพ สานพลังหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่าย พัฒนา “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” เพิ่มโอกาส คนพิการ 5 ล้านคน ใช้ระบบดิจิทัลคุณภาพ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่โรงแรม เดอะ ปาลาซโซ่ รัชดา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัล) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเวทีสัมมนา “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ Web Accessibility Guidelines” มุ่งเป้าสนับสนุนให้ภาคี พัฒนาเว็บไซต์ตามมาตรฐาน WCAG (Web Content Accessibility Guidelines) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนพิการ 

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ของคนพิการ 250 คน ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและระบบสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่ สสส. ให้การสนับสนุนอยู่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 95% ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ตั้งแต่เรื่องของการขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ค่าบริการอินเทอร์เน็ตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับรายได้ของคนพิการ การเข้าถึงข้อมูลและบริการดิจิทัลด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะอาชีพ บริการด้านการเงิน การเดินทาง รวมถึงข้อมูลที่ส่งเสริมการใช้งานสื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย เว็บไซต์ในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาให้ครอบคลุมการใช้งานของคนพิการ 

จากสถานการณ์นี้ สสส. เดินหน้าส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนพัฒนาเว็บไซต์และบริการดิจิทัลตามมาตรฐาน WCAG เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการที่มีมากถึง 5 ล้านคนในประเทศ ได้เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าให้เกิดองค์กรต้นแบบมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ 25 แห่ง ภายในปี 2568 

“สสส. มุ่งเน้นให้ภาคี หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มีความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาเนื้อหาบนเว็บไซต์และบริการดิจิทัลให้ได้ตามมาตรฐาน WCAG ที่ทุกคน โดยเฉพาะคนพิการต้องสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ เช่น  บริการด้านสาธารณสุข บริการสิทธิคนพิการ บริการด้านการศึกษา บริการทะเบียนราษฎร์ และบริการข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ได้แก่ ข้อมูลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก การเงินและการธนาคาร การซื้อขายสินค้าและบริการ การอาชีพ รวมถึงสร้างการรู้เท่าทันสื่อและสุขภาวะทางปัญญา นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดเป็นนโยบายและมาตรการในระดับหน่วยงานด้านการส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัลอย่างสะดวกและปลอดภัย” นางญาณี กล่าว

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช  กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า  WCAG หรือมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถูกออกแบบโดยองค์กร W3C - World Wide Web Consortium ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของทุกคน รวมถึงคนพิการ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ เช่น สวทช. กสทช. สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และสภาดิจิทัล รวมถึงองค์กรเพื่อคนพิการได้แก่ สมาคมคนตาบอด สมาคมคนหูหนวก มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มีการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาตรฐาน WCAG มาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์และบริการดิจิทัล

ตัวอย่างเช่น การออกแบบที่รองรับโปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) เสริมเมนูปรับเพิ่มขนาดตัวอักษร แสง สี พื้นหลังเว็บไซต์เพื่อช่วยเรื่องการมองเห็น ใส่คำบรรยายในสื่อภาพหรือวิดีโอเพื่อช่วยเรื่องการฟัง ลดข้อจำกัดการใช้งาน ช่วยให้คนพิการเข้าถึงเนื้อหา บริการ และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม งานจัดงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการเสริมความรู้สร้างความตระหนักให้ผู้ออกแบบพัฒนาเว็บไซต์และจัดทำข้อมูลออนไลน์ได้คำนึงถึงผู้ใช้ทุกกลุ่ม เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัล เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี โดยผลักดันให้เกิด  TWCAG 2022 หรือ Thai Web Content Accessibility Guidelines 2022  คือ แนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งนักออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์สามารถนํามาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา Digital Platform (Websites & Mobile Apps) ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม TWCAG 2022 มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและนำเสนอเนื้อหาบนเว็บไซต์ โดยยึดหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1.การรับรู้ได้ (Perceivable) โดยการออกแบบข้อมูลและส่วนต่างๆ ของหน้าจอ เช่น ปุ่ม ข้อความ รูปภาพ ให้ทุกคนรับรู้และใช้งานได้

2.การใช้งานได้ (Operable) เว็บไซต์ต้องออกแบบมาให้ใช้งานได้จริง ผู้ใช้ต้องสามารถกด/เลือก หรือโต้ตอบได้

3.การเข้าใจได้ (Understandable) เว็บไซต์ต้องออกแบบให้เข้าใจง่าย ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าใจข้อมูลและวิธีการใช้งานหน้าจอได้ง่าย  

4.ความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลง (Robust) เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ จะต้องแสดงผลได้ถูกต้อง แม้ว่าผู้ใช้จะเข้าถึงด้วยอุปกรณ์หรือโปรแกรมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงโปรแกรมช่วยเหลือคนพิการด้วย 

ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า กสทช. มีมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนเปราะบางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางดิจิทัล โดยที่ผ่านมาได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ต้องมีล่ามภาษามือ ใช้คำและเสียงบรรยายในรายงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัลสำหรับคนพิการ ทั้งนี้ ในปี 2567 กสทช. มีมาตรการบังคับการมีระบบบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน

1.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย

2.ส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพ

3.สนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการกระจายเสียงและโทรทัศน์

4.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ด้านนายจตุพล หนูท่าทอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนตาบอด มูลนิธิคนตาบอดไทย กล่าวว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะต้องทำได้รับอย่างเท่าเทียม สำหรับคนพิการแม้จะมีข้อจำกัดในด้านการมองเห็น การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหว ยังสามารถแก้ไขได้โดยการใช้ Assistive Technology มาช่วยเรื่องการสื่อสารและการทำงาน แต่ปัญหาที่แก้ไขยาก คือ การขาดความตระหนักรู้ของฝั่งผู้ให้บริการดิจิทัล ว่าจะต้องมีแนวทางอย่างไรในการพัฒนาเนื้อหาและบริการดิจิทัลขององค์กรให้สามารถเข้าถึงคนพิการได้ทุกคน ในไทยมีกฎหมายหลายฉบับพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น ดังนั้น การจัดสัมมนาโดยการสนับสนุนของ สสส. ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG ช่วยให้คนพิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้ต่อไป