หนึ่ง "เวลาได้ยินข่าว ให้ฟังและคิดตาม รู้เท่าทัน ระวังกับดักจากกลยุทธ์การค้า" ตอนนี้เบเกอรี่ถือโอกาสขึ้นราคา แถมธุรกิจเบเกอรี่และของผัดของทอดทั้งหลายโหนกระแสตีตราว่าไม่มีไขมันทรานส์หวังกระตุ้นยอดขาย

ดังนั้นอาจทำให้การกินอาหารผัดทอดและเบเกอรี่ในภาพรวมของประชาชนไม่ลดลง หรืออาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ กลายเป็นมีภาวะอ้วนและโรคเรื้อรังหนักกว่าเก่า

สอง รัฐพึงพิจารณาให้รอบด้าน หาทางลดการบริโภคผลิตภัณฑ์พลังงานสูง หวานจัดเค็มจัดมันจัด จะด้วยมาตรการภาษีโดยตรงต่อกิจการร้านค้า และ/หรือผู้บริโภค พร้อมๆ ไปกับสนับสนุนจูงใจให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพประชาชน

สาม ช่วยกันเปลี่ยนความเชื่อและความเคยชินว่าอาหารสุขภาพต้อง "สีเขียว ไม่อร่อย และราคาแพง" ให้ทราบและปฏิบัติกันใหม่ว่า เป็นอาหารปกติทั่วไปในสัดส่วนปริมาณและรสชาติที่พอเหมาะพอควร

แต่การจะเปลี่ยนความเชื่อและความเคยชินนั้นได้ ต้องช่วยกันทำเป็นตัวอย่างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างทั่วถึง และอย่างต่อเนื่อง

สี่ หากอยากลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด มี 7 อย่างที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าประชาชนต้องระวังและคุมให้ดี หากคุมได้ดีจะห่างไกลโรคนี้คือ

1. ไม่สูบบุหรี่

2. ออกกำลังกาย

3. กินอาหารที่ดี เน้นผักผลไม้และธัญพืช เลี่ยงการกินเนื้อแดงมากเกินไป (เช่น เนื้อวัว) รสชาติหวานเค็มมันให้น้อยลง

4. ระวังอย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์

5. คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

6. คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ

7. คุมระดับไขมันในเลือดให้ปกติ

หากคุมได้มากกว่า 5 อย่างขึ้นไป จะลดความเสี่ยงลงได้ถึงร้อยละ 80 ทีเดียวครับ

ดังนั้นการคุมโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ไม่ใช่แค่ไขมันทรานส์ครับ เพราะเป็นแค่ประเด็นย่อยเท่านั้นเอง

รู้เท่าทันคือสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันและอนาคตครับ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย