กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำหนังสือยามาตรฐานหรือ GREEN BOOK ฉบับพิเศษ 2 เล่มมุ่งเน้นยารักษาวัณโรค (Antituberculous drugs) และยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial drugs) เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดอุบัติการณ์วัณโรคและลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2564
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสมทั้งทางการแพทย์และการเกษตร ทำให้แบคทีเรียดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลในอดีตกลับกลายเป็นใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน นอกจากนี้มีงานวิจัยหลายฉบับในต่างประเทศรายงานว่าคุณภาพยาต้านจุลชีพที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ได้ตามเป้าหมาย และแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2564
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รวบรวมรายชื่อยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มจากโรงพยาบาลภาครัฐเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพภายใต้ “โครงการประกันคุณภาพยา”และมีผลการวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2560 จึงได้นำมาจัดทำ GREEN BOOK โดยในปี 2561 ได้จัดทำเป็นฉบับพิเศษ 2 เล่ม ได้แก่ GREEN BOOK ฉบับยารักษาวัณโรค (Antituberculous drugs) และฉบับยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial drugs) เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการลดอุบัติการณ์วัณโรคและลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2564 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แจกจ่ายหนังสือทั้งสองเล่มให้โรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการคัดเลือกและจัดซื้อยาที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนการรักษาโรคติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้รับบริการในระบบสาธารณสุขว่าได้รับยาที่มีคุณภาพ
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เริ่มโครงการประกันคุณภาพยาเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2545 โดยรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาและผู้ผลิตที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในแต่ละปี จะนำไปจัดทำเป็นหนังสือ GREEN BOOK ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 13 เล่ม มีจำนวนรายการยาและผู้ผลิตประมาณ 3,000 รายการ ซึ่งปีนี้ได้จัดทำฉบับพิเศษ 2 เล่ม ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ GREEN BOOK ฉบับพิเศษ ได้ที่เว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด" นพ.สุขุม กล่าว
- 14 views