เสนอโซนนิ่งคุมร้านเหล้าปทุมธานี กรมพินิจฯจับมือ ตร.ปทุม ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน จัดเวทีสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการร้านเหล้า-ผับบาร์ หลังพบเปิดขายรอบมหาวิทยาลัยสูงสุดรองจาก กทม. ชี้บางรายไม่เข็ดถูกดำเนินคดี 12 ครั้งยังท้าทายกฎหมาย เผยกลยุทธ์ตบตาเจ้าหน้าที่ เปิดห้องลับ- ทำร้านนมบังหน้า-จ้างรปภ.ดูต้นทาง –ห่วงเด็กต่ำกว่า 20 ปีเป็นเหยื่อ

เมื่อเร็วๆ นี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กรมการปกครอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และเครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอด จัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิงผับบาร์ ให้เข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาหรือโซนนิ่ง รวมถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และเสวนาหัวข้อ “ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา รายใหม่ไม่เพิ่มร้านเดิมทำตามกฏหมาย...เราทำได้”

นายอภิชาต จารุศิริ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งสคช.ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการลักษณะคล้ายสถานบริการนั้น ที่ผ่านมายังพบปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายขาดความรู้ ความเข้าใจ กฎหมายตามคำสั่ง คสช. และกฎหมาย อื่นที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น เวทีครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ ป้องกันการทำผิด รวมถึงจัดระเบียบสังคม ควบคุมสถานประกอบการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กเยาวชน ไม่ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการ ตลอดจนแก้ปัญหาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพัก เนื่องจากข้อมูล พบว่า จังหวัดปทุมธานี กลายเป็นพื้นที่ที่มีร้านเหล้ารอบสถานศึกษามาก ติดอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก

นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผอ.ส่วนกำกับ สืบสวนและปราบปราม กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อกฎหมาย ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทราบกฎหมายดี แต่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม เวลาเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมมักอ้างว่าไม่ทราบกฎหมาย ปฏิเสธว่าไม่ได้ขายลูกค้าหิ้วมาเอง หรือหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่บอกกล่าวก่อน ยกตัวอย่างร้านเหล้าแห่งหนึ่งที่อยู่ติดสถานศึกษาในพื้นที่ปทุมธานี ท้าทายคำสั่ง คสช.ถูกดำเนินคดีมากถึง 12 ครั้งและขายโดยที่ไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากเวลาถูกจับสั่งปิดก็กลับมาเปิดใหม่ ให้ลูกจ้างหรือนอมินี เปลี่ยนหน้าเพื่อรับผิดแทน และจากข้อมูลของผู้ประกอบการระบุชัดเจนว่า ร้านเหล้าอยู่ได้เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้งยังพบข้อมูล เช่น รอเจ้าหน้าที่เข้าตรวจก่อน แล้วปล่อยเยาวชนเข้าหลัง 5 ทุ่ม ขายเกินเวลา จ้าง รปภ.ดูต้นทาง มีห้องลับด้านล่างทำเป็นผับบาร์ บางรายเปิดร้านนมบังหน้า

“ตอนนี้ร้านเหล้ารอบสถานศึกษาบางส่วนปิดไปบ้างแล้ว จะเหลือแต่ผู้ประกอบการรายเก่าที่มีใบอนุญาตขาย ดังนั้นหากสรรพสามิตงดต่อใบอนุญาตจะทำให้รอบสถานศึกษาปลอดร้านเหล้าได้จริง เช่น ร้านเดิมทำตามกฎหมายให้ขายจนกว่าจะคืนทุนหรือในระยะเวลา2ปี ขณะเดียวกัน ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย คุมเข้มกฎหมาย เอาจริงเอาจัง ทำผิดต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ ส่วนผู้ประกอบการต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็กเยาวชน ขอให้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา” นายรณรงค์ กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมีมหาวิทยาลัยมากที่สุดถึง 13 แห่ง จึงทำให้มีร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยจำนวนมาก สำหรับบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยได้ยึดแนวทางตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 และแก้ไขเพิ่มเติม 46/2559 ควบคู่กับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551และ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ในภาคสังคมเราได้ร่วมกับผู้แทนจากทุกมหาวิทยาลัย ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในเขตรอบรั้วมหาวิทยาลัยหรือเขตโซนนิ่ง ซึ่งจากการลงพื้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเข้าใจในข้อกฎหมายและปฏิบัติตามในระดับหนึ่ง แต่ภายหลังจากที่ความถี่ในการลงพื้นทีน้อยลง ทางเราได้ตรวจพบผู้ประกอบการรายใหม่หลายรายที่ฝ่าฝืนกฎหมายขายเหล้าในเขตโซนนิ่ง หลังเข้าจับกุม ให้ข้อมูลว่าเซ้งร้านมาจากผู้ประกอบการเก่า จึงไม่แน่ใจว่าผู้ประกอบการใหม่ทราบหรือไม่ว่ากำลังทำผิดกฎหมาย

“อุปสรรคในการจับกุมผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นพอมีอยู่บ้าง เช่น กรณีตรวจพบลูกค้านั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าเขตโซนนิ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าจับกุมผู้ประกอบการกลับปฏิเสธว่าลูกค้าซื้อมาจากที่อื่นและนำเข้ามาดื่มในร้านเอง โดยยื่นบิลแสดงเป็นหลักฐาน เหตุการณ์ดังกล่าวผู้ประกอบการต้องการเลี่ยงกฎหมาย แต่แม้ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย แต่ยินยอมให้ลูกค้านำเข้ามาดื่มในร้าน ต้องรับโทษตามกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้ชัดเจนในข้อกฎหมาย การเข้มงวดกวดขัน มุ่งหวังให้ปทุมธานีเป็นเขตโซนนิ่งโมเดลนั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งทางเราได้รับความร่วมมือจากภาคสังคมเป็นอย่างดี อาทิ เครือข่ายนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า และภาคีเครือต่างๆ ซึ่งคงต้องพัฒนากลไก แนวทางปฏิบัติให้ดีขึ้นเรื่อยๆ” พล.ต.ต.สุรพงษ์ กล่าว

////////////////////