นักวิชาการ จี้รัฐออกนโยบายสาธารณะ ทำให้ ปชช.ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง เทียบ ตปท. พบ! ไทยมีประชากรน้อยกว่า แต่เสียชีวิตจากการดื่มเกือบ 2,400 ราย 

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่เดอะ ฮอลล์ บางกอก วิภาวดี 64 ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแพร่ผลการศึกษา "ผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลทั่วโลกในความสำคัญด้านเศรษฐกิจเมื่อต้องออกนโยบายสาธารณะ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงนำเอามติการจ้างงาน รายได้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเหตุผลในการต่อต้านมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ และการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ 

จากตัวเลขตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2565 โดยประเทศไทยมีมูลค่าสูงสุด รองลงมาเป็นประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ เมื่อย้อนไป 30 ปีที่แล้ว พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวมของประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ประชาชนไทยบริโภคโดยเฉลี่ย 5 ลิตร พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) อยู่ที่ 7 ลิตร โดยสุรามากที่สุด 

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจดี การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดีตามไปด้วย แต่ข้อมูลพบว่า ความสัมพันธ์ผกผัน เมื่อดื่มมากขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่ต่ำลง 

ผลการศึกษาชี้ว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากประชากรในประเทศไทยโดยเฉลี่ยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1 ลิตร จะทำให้ระยะยาว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ลดลงประมาณ 15% 

โดยสรุปแล้ว การวิจัยบ่งชี้ว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในภาพรวม การบริโภคสุรา เบียร์ ในระยะยาว ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลง ส่วนสาเหตุที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากร ส่งผลในภาพรวมต่อผลิตภาพของแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ขออธิบายจากมิติทางเศรษฐศาสตร์ 2 ประเด็น ดังนี้

1. แอลกอฮอล์มีผลต่อสุขภาพ ทำให้แรงงานลางานบ่อย ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น หากมีการบริโภคอย่างหนัก หรือดื่มจนเป็นอันตราย ก็จะทำให้เกิดการว่างงานของประเทศสูงขึ้น

2. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน เกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น พ่อแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะเสียโอกาสด้านเวลาในการดูแลลูก หรือเสียโอกาสด้านทรัพยากรทางการเงิน ในการส่งเสีย เลี้ยงดูด้านการศึกษา

แม้ว่า ประเทศไทยมีประชากรต่ำกว่าญี่ปุ่นและเยอรมนีอยู่ที่ 71 ล้านคนในปี 2021 แต่มีการเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 2,400 ราย 

"ภาครัฐควรมีมาตรการในทิศทางที่ทำให้ประชาชนในประเทศบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ควรตระหนักในการออกนโยบายสาธารณะ โดยพิจารณามิติต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ" ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- วงเสวนา ลดทอนการควบคุมแอลกอฮอล์ฯ เผยไทยมีกฎหมายดี แต่ปัญหาบังคับใช้