ผลวิจัยชี้ชัด ‘ร่วมจ่าย’ ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลลดลงจริง แต่หายไปทั้งผู้ที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (Center of Excellence in Health system and Medical Research) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงผลการวิจัยเรื่องโครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์ ซึ่งได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อช่วงปลายปี 2560 ตอนหนึ่งว่า จากการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาพยาบาลเองจำนวน 1,060 ราย พบว่าหากมีนโยบายร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นจะทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลลดลงจริง แต่ในจำนวนนี้เป็นทั้งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา และผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลด้วยการตั้งคำถามให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองว่ามีความจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ พบว่า 72% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าตัวเองมีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ส่วนในมุมมองของแพทย์นั้นมองว่ามีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา 40% นั่นสะท้อนว่าในคนๆ เดียวกันนั้น มุมมองของแพทย์และผู้ป่วยในเรื่องความจำเป็นมีความแตกต่างกัน
“ในมุมของแพทย์จะมองความจำเป็นในระดับที่ต่ำกว่าผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยมองว่ามีความจำเป็นและมีความจำเป็นระดับปานกลาง แต่แพทย์จะมองในจำนวนนี้มีกว่า 10% ที่ยังไม่จำเป็นต้องมารับรักษาพยาบาล ขณะที่เมื่อถามถึงอาการป่วยที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจเดินทางมารับการรักษาพยาบาล พบว่าท้องอืด จุกเสียด เป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมองความจำเป็นสูงกว่าที่แพทย์ แต่ด้วยอาการเดียวกันนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยอีกกลุ่มมองความจำเป็นต่ำกว่าแพทย์ด้วยเช่นกัน
“เวลาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเขาไม่ได้มาด้วยโรคแต่เขามาด้วยอาการ ด้วยอาการนำเดียวกันนั้นนำมาซึ่งโรคที่หลากหลาย และด้วยอาการนำเดียวกันนี้ได้ทำให้แพทย์มองว่าผู้ป่วยโอเวอร์เกินจริง และเป็นอาการที่ผู้ป่วยมองว่าตัวเองป่วยน้อยกว่าที่ตัวเองคาดคิดด้วยเช่นกัน สรุปก็คือความเจ็บป่วยมีความซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่มองที่อาการนำ” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังได้ถามถึงนโยบายร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดอัตราเป็นช่วงราคาตั้งแต่ 50 บาท 100 บาท 200 บาท ฯลฯ ซึ่งพบว่าทั้งในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีการตัดสินใจไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งคู่ แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปคือในขณะที่เพิ่มราคาร่วมจ่ายมากขึ้น อัตราการไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลของกลุ่มผู้มีรายได้สูงจะลดลงช้ากว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ เช่น เมื่อถามว่าพร้อมจะร่วมจ่าย 200 บาทหรือไม่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงเพียง 10% ระบุว่าจะไม่เข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำนั้นมีมากถึง 50% หรือเมื่อถามว่าพร้อมจะร่วมจ่าย 2,000 บาทหรือไม่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 60% จะไม่มาโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึง 85% จะไม่มาโรงพยาบาล
“สิ่งที่ผมโยงต่อไปก็คือทั้งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและไม่มีความจำเป็นในมุมมองของแพทย์นั้น หากมีการร่วมจ่ายแล้วกลุ่มไหนจะหายไปจากโรงพยาบาลก่อน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าจะหายไปทั้ง 2 กลุ่ม นั่นหมายความว่าการร่วมจ่ายไม่ได้ตัดเฉพาะคนที่ไม่จำเป็นเข้ารักษาพยาบาลออก แต่เราได้ตัดคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลออกไปด้วย” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า นโยบายร่วมจ่ายทำให้ปริมาณคนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลงจริง แต่เป็นการลดลงทั้งกลุ่มผู้ที่จำเป็นและไม่จำเป็น ผลการศึกษานี้ได้ตอบคำถามว่านโยบายร่วมจ่ายลดความแออัดในโรงพยาบาลได้จริง แต่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็นเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด เพราะที่สุดแล้วผู้ป่วยจะหายไปทั้ง 2 กลุ่ม
ดาวน์โหลดเอกสารได้ ที่นี่
- 26 views