อดีต

เกือบ 30 ปีที่โรงพยาบาลชุมชนดำเนินงานงานจิตเวชและยาเสพติดมา ผู้ปฏิบัติงานจิตเวชและยาเสพติด คือ พยาบาลจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งสมัยก่อนแทบจะหาพยาบาลไปเรียนเฉพาะทางสาขาปริญญาโททางการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต, PG จิตเวชผู้ใหญ่, PG จิตเวชเด็กและวัยรุ่น, PG ยาเสพติด ไม่ได้ ด้วยเหตุผลเพราะคิดว่าเรียนแล้วต้องมาเจอกับคนไข้ที่มีอาการทางจิต พูดไม่รู้เรื่อง พยาบาลที่ไปเรียนต้องมีใจรัก บวกกับความเสียสละ เรียนจบเพื่อกลับมาช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่า ในแต่ละโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีพยาบาลจิตเวช พยาบาลยาเสพติดน้อย เฉลี่ย 2-4 คน รพช.ขนาดใหญ่ ขณะที่ รพช.ขนาดเล็ก ก็มี 1-2 คน แต่การทำงานที่ผ่านมาทำทุกอย่างที่เป็นงานจิตเวชและยาเสพติด ทั้งงานเชิงรุก งานเชิงรับ ผลที่เกิดขึ้นสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ ที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลจิตเวช ลดภาระค่าใช้จ่ายของ รพช.ในการส่งต่อผู้ป่วย จาก รพช.มาโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และ รพ.จิตเวชได้อย่างเป็นรูปธรรม

งานยาเสพติดก็เช่นกัน ปี 2545 ช่วงประกาศสงครามยาเสพติด พยาบาลจิตเวช พยาบาลยาเสพติด ก็ไม่เคยท้อ เคียงบ่าเคียงไหล่กับหน่วยงานอื่น ในการพาผู้เสพยาเข้ารับการบำบัด บางครั้งต้องกลับบ้านมืดค่ำ แถมต้องระวังอันตรายกับภัยยาเสพติด กลัวผู้มีอิทธิพลต่างๆ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ทำงานและผ่านมาได้ บางแห่งได้รับโล่รางวัลระดับประเทศในงานจิตเวช งานยาเสพติด

ปัญหาโครงสร้างใน รพช.ที่ผ่านมา ไม่มีโครงสร้างสำหรับงานจิตเวชและงานยาเสพติด เป็นเพียงงานฝากไว้กับกลุ่มงานอื่นๆ เช่น กลุ่มงานผู้ป่วยนอก กลุ่มการพยาบาล บางแห่งไว้กับกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว การทำงานที่ผ่านมาภายใต้อุปสรรค ด้านกำลังคน/โครงสร้างงานที่ไม่ชัด ทำให้บางแห่งไม่สามารถเปิดบริการทุกวันได้ บางแห่งเปิดบริการ 1 วัน ใน 1 สัปดาห์ เช้าบริการคลินิกจิตเวช บ่ายบริการคลินิกยาเสพติด เพราะต้องไปรับผิดชอบงานอื่นที่ไม่ใช่งานจิตเวชและยาเสพติดโดยตรง ทำให้ผลที่เกิดขึ้นมีผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำมากขึ้น การเสพซ้ำยาเสพติดมากขึ้น การติดตามไม่ครอบคลุม การเข้าถึงโรคจิตที่สำคัญลดต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด เด็กสมาธิสั้นมีจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำตัวเข้าระบบบริการด้วยเหตุผลดังกล่าว

ปัจจุบัน

กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญและเร่งผลักดันให้เกิดระบบที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อประชาชนและประเทศ การเพิ่มกลุ่มงานจิตเวช และยาเสพติดใน รพช.นั้น สามารถดูแลบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวชได้ดีขึ้นมากๆ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเชื่อมต่อกับ พชอ.ผ่านกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวที่ดูแลทุกกลุ่มวัย การทำงานด้านจิตเวชและยาเสพติด ต้อง Integrate กับงานทางกาย

งานยาเสพติดระยะเวลาที่ใช้ต่อการบำบัดแต่ละครั้งมีความสำคัญ ถ้ามีผู้เสพในพื้นที่ 100 คน บำบัดกลุ่มละ 10 คน ทั้งหมด 10 กลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 10 กลุ่มก็ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งมีเวลา 5 วัน แสดงว่าใช้เวลาวันละ 4 ชั่วโมงสำหรับการบำบัด ใช้ผู้บำบัดครั้งละ 2 คน แต่งานจิตเวชและยาเสพติดยังมีงานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งจิตเวชเด็ก/ผู้ใหญ่/สูงอายุ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าทำไมต้องใช้คน และทำไมต้องเพิ่มกลุ่มงาน

อนาคต

ด้วยปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทย มีปริมาณและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น สาเหตุของความสูญเสียปีสุขภาวะอันดับ 1 ในเพศชาย คือ การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในเพศหญิง ซึมเศร้าเป็นอันดับ 3 การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชและยาเสพติด เป็นโรคเรื้อรัง ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดในสังคมไทย แม้จะได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไปได้ เนื่องจากเป็นขบวนการที่มีความซับซ้อน ตามนโยบายรัฐบาลให้มีการพัฒนาระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด ภายใต้ทิศทางนโยบายยาเสพติดโลก ใช้หลักการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนเน้นการดูแลสุขภาพและสังคม เป็นแนวปฏิบัติในการลดผลกระทบจากปัญหายาเสพติด ปรับมุมมอง ผู้เสพผู้ติดยาเสพติด คือ “ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการรักษา ภายใต้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ประกอบกับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในระบบต่างๆ ให้กับกระทรวงสาธารณสุข

เพื่อการรองรับปัญหาสุขภาพจิตและปัญหายาเสพติดที่มากขึ้นนั้น จึงควรมีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว

ประโยชน์การเพิ่มโครงสร้าง กลุ่มงาน จิตเวช สุขภาพจิต และยาเสพติด

เพิ่มการเข้าถึงโรคทางจิตเวชที่สำคัญและยา/สารเสพติด โดยการมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใกล้บ้านใกล้ใจ ลดภาระผู้ป่วยและญาติ ด้านเศรษฐกิจสังคม และลดความแออัด ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดในระดับตติยภูมิ เพิ่มความครอบคลุม ทั่วถึงทุกตำบล อำเภอ จังหวัด ให้ระบบสาธารณสุขดูแลครบวงจร ทั้งกายและจิต ควบคู่กันอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ ประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยได้รับการเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่อง ปลอดภัยจากภาวะปัญหาสุขภาพจิต ยา/สารเสพติด ทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน สังคม

ยาเสพติดและจิตเวชควรอยู่ด้วยกันเนื่องจากโรคร่วมของยาเสพติด ในปัจจุบันคืออาการทางจิตเวช และก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงที่สร้างความกังวลใจให้กับสังคม ความรุนแรงต่อผู้ด้อยโอกาส คนชรา เด็ก และผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง รวมถึงการทะเลาะวิวาทถึงขั้นทำร้ายกันด้วยความรุนแรงถึงแก่ชีวิต มีต้นตอมาจากการใช้สารเสพติดจนเกิดการขาดความยั้งคิด หรืออาการทางจิตกำเริบ การทะเลาะเบาะแว้งในวัยรุ่นจนถึงการฆ่าฟัน หรือยิงกันแบบเอาทำลายถึงชีวิต ทำให้สังคมเกิดความตระหนก และขาดความเป็นปกติสุขในสังคม ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนเต็มไปด้วยความหวาดระแวงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปัญหาเหล่านี้ล้วนแก้ไขได้ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด เพื่อร่วมดูแลให้การรักษา ป้องกัน และให้ความรู้กับสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดไปครับ

ขอบคุณผู้บริหาร

ขอบคุณผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่เห็นความสำคัญให้มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน และเร่งผลักดันให้เกิดระบบที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อประชาชนและประเทศ

ผู้เขียน “แก้มบุ๋ม” 27 ก.พ 2561