ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ขับเคลื่อนงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางจิตเวช ร่วมกับ สพฉ. ส่งต่อ รพ.สวนปรุง นำร่องพัฒนาแนวทางจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช จัดทำคู่มือเล่มแรกของประเทศไทย  

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาแนวทางการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช (PEMS : Psychiatric Emergency Medical services) เขตสุขภาพที่ 1 โดยมี นพ.กฤษณ์ติพงศ์ อรัญสิทธิ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและจิตเวชชุมชน หัวหน้าทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย “ปลุกชุมชน ให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้การแก้ไขปัญหาจิตเวชและยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วน พร้อมพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดให้มีคุณภาพและครอบคลุมสถานพยาบาลทุกระดับ และได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อ ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต เพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการช่วยเหลือบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่ดีมีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางจิตเวชมาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการการทำงานร่วมกับมินิธัญญารักษ์ที่เปิดให้บริการ Residential Care (การดูแลผู้ป่วยยาและสารเสพติดที่บ้าน) 27 จังหวัด 42 โรงพยาบาล ส่งเสริมสนับสนุน รพศ/รพท จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด 127 แห่ง และ รพช.มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด 776 แห่ง รวมถึงยกระดับการบริการฉุกเฉิน (ER) ในโรงพยาบาลจิตเวชให้เป็นหน่วยปฏิบัติการระดับเฉพาะทางและระดับที่ปรึกษา สาขาจิตเวชฉุกเฉิน (PEMS) จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

ปัจจุบันมี รพ.สวนปรุง รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.ศรีธัญญา และ รพ.สวนสราญรมย์ ได้รับการอนุมัติดังกล่าว พร้อมจัดทำแนวทางบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวชควบคู่กันไป โดยได้มอบหมายให้ รพ.สวนปรุง นำร่องจัดโครงการพัฒนาแนวทางการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช (PEMS) ในเขตสุขภาพที่ 1 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สพฉ. เพื่อนำแนวทางที่ได้ขยายผลไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้การจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวชมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจิตเวชได้รับความปลอดภัยได้รับการรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสม ได้รับการติดตามและฟื้นฟูพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างอบอุ่น

นพ.กิตต์กวี กล่าวอีกว่า รพ.สวนปรุง นำร่องจัดโครงการพัฒนาแนวทางการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช (PEMS : Psychiatric Emergency Medical Services) ในเขตสุขภาพที่ 1 (ระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2567) เพื่อระดมความคิดเห็นบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนและจัดแนวทางการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช (PEMS) เล่มแรกของประเทศไทย โดยได้เชิญผู้รับผิดชอบงานจิตเวชและงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 1 ทั้งภาครัฐและเอกชน/ผู้รับผิดชอบงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางจิตเวช อบจ./อปท./ผู้ให้บริการดูแลช่วยเหลือส่งต่อผู้ป่วยจิตเวช/ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย/แกนนำชุมชน/ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน/ตำรวจ/กู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่และทีมจิตเวชฉุกเฉิน จำนวน 100 คน เข้าร่วมโครงการ 

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวชแบบบูรณาการในเขตสุขภาพ แนวทางการส่งต่อ และการแบ่งกลุ่มจัดทำแนวทางระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช นำร่องในเขตสุขภาพที่ 1 โดยมี นพ.กฤษณ์ติพงษ์ อรัญสิทธิ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและจิตเวชชุมชน รพ.สวนปรุง นพ.ประสาน เปี่ยมอนันต์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.นครพิงค์ และดร.อรทัย ศรีศิลป์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินกองสาธารณสุข อบจ.เชียงใหม่ และคณะ เป็นวิทยากร 

สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเฉพาะทางจิตเวช หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง มีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมาก ใช้สารเสพติดหรือสุราร่วมด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงทำร้ายตนเองและผู้อื่น สามารถช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ได้ โดยโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและนำส่งสถานพยาบาลในระบบอย่างปลอดภัย