“หมอธีระ” วิเคราะห์กรณีผู้ป่วยมะเร็งแห่รับสมุนไพร ต้นเหตุคำสื่อสารทำสับสน ทั้งคำว่า “หมอ” และ “ยา” สร้างความเชื่อมโยงถึงการรักษา แนะ สธ.เร่งแจงให้ชัด สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อนิยาม “หมอพื้นบ้าน และยา” พร้อมยกตัวอย่างกรณีสมุนไพรแพทย์ทางเลือก สหรัฐฯ แยกเป็น “อาหารเสริม” ไม่ใช่ยารักษาหากไม่ตรงตามเกณฑ์สากล
จากกระแสผู้ป่วยมะเร็งแห่ขอรับสมุนไพรหมอพื้นบ้าน ทำให้ “แพทย์แผนปัจจุบัน” ต่างแสดงความเป็นห่วงและออกมาเตือนผู้ป่วยและญาติ กลายเป็นกรณีพิพาทผ่านทางสื่อในช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรก แต่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดอยู่บ่อยครั้ง จากความหวังผู้ป่วยที่ต้องการหายจากโรค โดยเฉพาะโรคที่รักษาได้ยากหรือไม่มีทางรักษา อย่างเช่นโรคมะเร็งนี้
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
จากการวิเคราะห์ต้นเหตุปัญหากรณีพิพาทนี้ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันหรือหมอพื้นบ้านต่างมีเจตนาที่ดีต่อผู้ป่วย โดยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ แต่ที่ดูจะเป็นปัญหาหลักคือการใช้คำสื่อสารผ่านสาธารณะที่ส่งผลต่อความเชื่อและการปฏิบัติของผู้คน อย่างคำว่า “หมอพื้นบ้าน” แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะให้คำจำกัดความว่า “เป็นหมอที่ดูแลคนในชุมชน ในพื้นที่จำกัด” แต่ด้วยการใช้คำว่า “หมอ” ทำให้เกิดความเข้าใจว่า หมอในที่นี้คือแพทย์ เป็นคำที่มีความหมายในเชิงวิชาชีพ ทำให้คนมีความหวังและมีความเชื่อที่เข้าใจผิดได้ จนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนสังคมอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
นอกจากคำว่าหมอแล้ว คำว่า “ยา” ยังเป็นคำที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อเช่นกัน เพราะเมื่อใช้คำว่ายา คนทั่วโลกจะเข้าใจว่าเป็นการบำบัดรักษา ดังนั้นไม่ว่าจะสั่งใช้โดยแพทย์หรือหมอพื้นบ้าน คนจะเข้าใจว่าเป็นการใช้เพื่อบำบัดรักษา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นเป็นกระแสขณะนี้ คงต้องพิจารณาร่วมกันว่าตกลงเป็นยาหรือไม่ ซึ่งหลักการโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงยา จะมีข้อที่ต้องพิจารณาอันประกอบด้วย 3 หลักการที่สำคัญ คือ 1.คุณภาพในการผลิตยา ยาในแต่ละเม็ดเราต้องรู้ส่วนประกอบที่ชัดเจน ทั้งต้องมีสัดส่วนในเม็ดยาแต่ละเม็ดที่เท่ากัน ไม่แปรปรวน หากไม่รู้ส่วนประกอบจะทำให้เกิดความกังขาต่อคุณภาพและมาตรฐานของยานั้น 2.ความปลอดภัย เมื่อนำมาใช้บำบัดรักษา ยาจำเป็นต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัย รวมถึงต้องมีการทำทดสอบว่ามีปฏิกิริยากับยาอื่นหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วยในภายหลัง
และ 3.ประสิทธิผลของยาในการรักษา ทางสากลและหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน ยาต้องผ่านกระบวนการทดลองในคนถึง 4 ระยะเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรักษาได้จริง โดยต้องใช้เงินลงทุนและเวลาเพื่อให้มั่นใจ ซึ่งข้อมูลในอดีต เคยมีคนคาดประมาณว่ายาแต่ละชนิดต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการทดสอบตั้งแต่ในห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ และในคนราว 12-15 ปี ทั้งยังต้องใช้งบลงทุนถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เหล่านี้เป็นมาตรฐานสากลว่าด้วยเรื่องของยา
“ขณะนี้เราคงต้องดูว่าในการใช้คำว่า “หมอ” หรือ “ยา” เพื่อสื่อสารสาธารณะนั้นเป็นการใช้ในความหมายที่ตรงกันหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนตัวจึงไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะด้วยการใช้คำดังกล่าว ส่งผลให้มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีเจตนาที่ดี เพียงแต่เป็นการมองผ่านเลนส์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการพูดถึงโรคมะเร็งที่รักษาลำบาก แม้แต่แพทย์แผนปัจจุบันนั้นบางชนิดหรือบางระยะก็ยังรักษาให้หายได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่น่าคิดคือ จะทำอย่างไรให้ทั้งแผนปัจจุบันและพื้นบ้านสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมกันโดยไม่เกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์”
หากถามว่าทำอย่างไรให้เกิดการดูแลผู้ป่วยร่วมกันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยนั้น ผศ.นพ.ธีระ ระบุว่า ในประเทศสหรัฐฯ ชัดเจนว่ากรณีที่เป็นยาต้องผ่านกระบวนการทดสอบมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งในด้านความปลอดภัย และประสิทธิผล จึงจะขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ โดยยาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสารสกัดทางเคมีและมีสัดส่วนชัดเจน แต่ในกรณีของการแพทย์ทางเลือกนั้น ส่วนใหญ่จะใช้แนวทางที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น แนวการแพทย์ทางเลือกที่ใช้สมุนไพรต่าง ๆ มีการใช้ใบ ราก เปลือก และเมล็ดต่าง ๆ มาปรุง การประเมินประสิทธิผลโดยใช้แนวทางแพทย์แผนปัจจุบันจึงค่อนข้างยาก และต้องอาศัยการออกแบบหรือวางแผนการวิจัยอย่างรอบคอบ ดังนั้นในสหรัฐฯ จึงไม่ถือว่าเป็นยาตราบใดที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนมาตรฐานดังที่กล่าวมา และจัดสารต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างว่ามีสรรพคุณต่อร่างกายนั้นอยู่ในประเภท “อาหารเสริม” แทน โดยจะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดน้อยกว่ายาอย่างมาก
“สหรัฐอเมริกามีกฎหมายรองรับอาหารเสริม (Dietary Supplement Health and Education Act: DSHEA) ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้ภายใต้การประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม ไม่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่ารักษาโรคใดโรคหนึ่งได้ แต่ให้ระบุสรรพคุณกว้างๆ เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดกว้างในกรณีที่พบผลเสีย หรือผลข้างเคียงจากอาหารเสริม สามารถเก็บข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้ดำเนินมาตรการห้ามจำหน่ายได้” อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวและว่า ขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีกฎหมายที่กำหนดให้กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้บำบัดรักษา ต้องมีการขอขึ้นทะเบียนก่อน เพื่อให้มีการตรวจสอบทั้งความปลอดภัย คุณภาพและมาตรฐานการผลิต และผลในการบำบัดรักษา หากไม่สามารถทำได้ก็ไม่ถือว่าเป็นยา
นอกจากนี้ในประเทศอังกฤษ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะคอยกำกับสิทธิประโยชน์เบิกจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งในกรณีของแพทย์ทางเลือกระบบให้เบิกจ่ายเฉพาะที่มีการยอมรับประสิทธิภาพในการบำบัดและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่า ซึ่งมีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ อาทิ การฝังเข็มและใช้สมุนไพรประเภทขิงสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดการแพ้ท้อง และการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดหลัง ส่วนการบำบัดวิธีอื่นๆ ยังไม่อนุมัติเนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์เพียงพอที่จะให้เบิกจ่ายได้ ทั้งนี้จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการให้คำจำกัดความที่ชัดเจนว่าอะไรคือยา และเมื่อเป็นยาต้องจะมีคุณสมบัติอย่างไร หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ให้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่นอาหารเสริมก็ได้
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยยอมรับว่ามีความซับซ้อนกว่า แม้ว่าจะมีการให้คำจำกัดความที่ชัดเจนแล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในการสื่อสารสู่สาธารณะยังมีการใช้คำสับสนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย แถมกลไกการตรวจสอบยังไม่เข้มข้นและชัดเจนเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว เป็นที่มาของวิวาทะระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและหมอพื้นบ้านที่ต่างฝ่ายต่างอยากจะช่วยผู้ป่วย จำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันสื่อสารไปยังประชาชนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง แจกแจงต่อสาธารณะให้ทราบว่า สิ่งที่รับแจกนั้นเป็นยาหรือไม่ใช่ยา มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง พร้อมให้คำแนะนำในกรณีที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งว่าควรปฏิบัติอย่างไร
“ในระยะต่อจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาต่างๆ และหมอพื้นบ้านเองต้องร่วมกันเพื่อช่วยประชาชน โดยสื่อสารสาธารณะว่าสิ่งที่แจกขณะนี้เป็นยาหรือไม่ หากยังไม่ได้เป็นยา จะจัดให้อยู่ในหมวดอาหารเสริมได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยสูงสุดและไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้หากมีประสิทธิภาพในการบำบัดผู้ป่วยจะได้นำไปสู่การพัฒนาสมุนไพรไทยสู่สากลต่อไป”
ส่วนที่มองว่าน่าจะนำมาใช้ควบคู่กับการรักษามะเร็งนั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า จริยธรรมการแพทย์มี 4 ข้อหลัก คือ 1.วิธีการรักษา ไม่ว่าจะด้วยการใช้ยาหรือวิธีใด การรักษาต้องมีข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์ตามมาตรฐานแล้วว่าได้ผลที่ดี ไม่ใช่แค่กล่าวสรุปเองว่ารักษาหายหรือดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยหนักกินข้าวไม่ได้ แต่เมื่อกินสมุนไพรนี้ทำให้กินข้าวได้ ซึ่งต้องไม่ไปสรุปเอาว่าทำให้โรคดีขึ้น จนกว่าจะผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานแล้วว่าตัวโรคนั้นดีขึ้นจริง 2.ต้องบอกความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นให้กับผู้ป่วยและญาติ เพื่อชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ 3.การดูแลรักษาอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และ 4.เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย เพราะเป็นสิทธิในการดูแลชีวิตตนเอง ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์พื้นบ้าน สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเองที่เป็นผู้ตัดสินใจ
อย่างไรก็ตามมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสื่อสารต่อสาธารณะ สร้างความกระจ่างระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน หมอพื้นบ้าน หรือแม้แต่การใช้คำว่ายาและอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
- 199 views