กรมอนามัย เผยคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 14 ชม./วัน จัดทำข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กระตุ้นคนไทยเคลื่อนไหวร่างกายลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และพักผ่อนให้เพียงพอ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานแถลงข่าวการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประชาชนณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจกรมอนามัย ว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอแต่กลับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือการนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง
การแก้ไขปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของประชาชนไทยที่ผ่านมานั้นกรมอนามัยร่วมกับภาคีวิชาการได้ศึกษาพัฒนาข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในประชาชนแต่ละกลุ่มวัย ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และหลังคลอดเด็กปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยการทบทวนหลักฐานทางวิชาการทั้งในและนอกประเทศ และประชุมผู้เชี่ยวชาญ จนได้ข้อแนะนำที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย และสื่อสารเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปปรับใช้เพื่อสุขภาพที่ดี
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนแต่ละกลุ่มวัยมีความแตกต่างกันโดยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์สามารถมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนคนปกติ แต่มีข้อควรระวังในบางไตรมาส ในขณะที่เด็กปฐมวัย 0-5 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายหนักเบาผสมผสานกันอย่างน้อย 180 นาที ต่อวัน เด็กวัยเรียนวัยรุ่น ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาที ต่อวัน
วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อาทิ การเดินไปตลาด การปั่นจักรยานไปทำงาน การทำงานบ้าน อย่างน้อย 150 นาที หรือระดับหนัก อาทิ การวิ่ง การว่ายน้ำรำวงย้อนยุค อย่างน้อย 75 นาที สัปดาห์รวมทั้งฝึกสมดุลร่างกายเพิ่มเติมในผู้สูงวัย และลดการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการดูโทรทัศน์ ให้น้อยที่สุด
ผศ.ดร.สิริพร ศศิมณฑลกุล คณะบดีคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายสำหรับอาชีพต่างๆ ของคนไทย มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาในการวิเคราะห์โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพหลักของคนไทย อาทิ ชาวนา ชาวประมง พนักงานบริษัท และผู้ทำงานขับรถ ซึ่งมีลักษณะการทำงานและบริบทที่แตกต่างกัน เช่น ฤดูกาลเตรียมดิน หว่านข้าว เกี่ยวข้าว ของชาวนา เป็นต้น เพื่อให้คนไทยมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและมีสุขภาพดี
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การพัฒนาข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายของประเทศไทย มีความสำคัญอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1.เป็นการสร้างนิยามใหม่ในสังคมไทย ว่าการสร้างเสริมสุขภาพได้ขยายความครอบคลุมจากการออกกำลังกายมาเป็นการ "ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย” ที่ครอบคลุมตลอดทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ประเด็นที่ 2 คู่มือนี้ ชี้ให้เห็นทั้งปัจจัยบวกคือการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นและการลดปัจจัยเสี่ยงคือการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
และประเด็นที่ 3 คู่มือนี้เน้นย้ำเรื่องการนอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่หลายท่านอาจจะลืมไป และไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ
และสิ่งที่ยังต้องทำต่อคือ การเพิ่มเครือข่ายด้านกิจกรรมทางกายทั้งนักวิจัย นักวิชาการ นักสื่อสาร และผู้ปฏิบัติงาน และการกำหนดแผนการสื่อสารเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
- 297 views