แม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 คลี่คลายลง ด้วยการพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วยต่อวันในประเทศไทย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบของโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่ว่าจะในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุข
การรับมือกับผลกระทบในระยะยาวจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงาน การป้องกัน ควบคุมการระบาด และการรักษาผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Monitoring & Controlling Covid-19 Committee : MCC) ณ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา
ในระหว่างการประชุม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ* โดยเสนอว่าประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็นคลื่น 4 ลูก ดังนี้
คลื่นลูกที่ 1 คือ ช่วง 1-3 เดือนแรกที่เริ่มมีโรคระบาด และอาจยาวนานถึง 9 เดือน หากมีการกลับมาระบาดซ้ำ เป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคนและขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ต้องใช้ทรัพยากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น และอาจต้องเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ไปก่อน
คลื่นลูกที่ 2 คือ ช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดที่รอได้ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ต้องได้รับการดูแลหลังจากชะลอการพบแพทย์ไปก่อนหน้านี้ และอาจกลับมาสู่หน่วยบริการแบบ “ล้นทะลัก (Influx)” คาดการณ์ว่าผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในกลุ่มนี้ หายไปจากโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 20-50
คลื่นลูกที่ 3 คือ ช่วง 4-9 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดัน เบาหวาน เอชไอวี/เอดส์ และโรคจิตเวชเรื้อรัง ซึ่งให้อยู่รักษาที่บ้านหรือรับยาผ่านไปรษณีย์ในช่วงก่อนหน้านี้ ต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์หรือรับการรักษา
คลื่นลูกที่ 4 คือช่วง 1-3 ปี หลังมีโรคระบาด เกิดผลกระทบระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (Economic injury) ซึ่งส่งผลลูกโซ่มายังผลกระทบด้านสุขภาพจิต เช่น คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การให้บริการในภาวะวิกฤติมาอย่างยาวนานยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟ โดยผลกระทบใน 3 ด้านมีความรุนแรงที่ “ขึ้นเร็ว” และ “ลงช้า”
“ประเทศไทยยังอยู่ในขาลงของคลื่นลูกที่ 1 และกำลังจะเข้าลูกที่ 2 3 และ 4” นพ.วชิระ กล่าว “เราอาจต้องกลับมาออกแบบระบบบริการให้รับมือวิกฤติได้ในอนาคต”
สำหรับผลกระทบในคลื่นลูกที่ 2 และ 3 นั้น ทำให้ต้องกลับมาทบทวนระบบบริการสุขภาพรายจังหวัดและรายเขต โดยออกแบบระบบบริการที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยเฉียบพลัน และผู้ป่วยเรื้อรัง โดยต้องสามารถให้บริการโดย “ไม่หยุดชะงัก”
สำหรับผลกระทบในคลื่นลูกที่ 3 ต่อเนื่องมาคลื่นลูกที่ 4 นั้น ระบบปฐมภูมิมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชาชน เพราะผลกระทบจากโรคระบาดส่งผลต่อหน่วยทางสังคมทุกระดับ ได้แก่ บุคคล ครอบครัว และชุมชน นอกจากนี้ ควรจัดทำแผนเยียวยาจิตใจ สังคม ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และลดภาวะหมดไฟของบุคลากรทางการแพทย์
* หมายเหตุ: ถอดบทเรียนจากการเผยแพร่ความรู้ของ UPWELL Collective สถาบันการแพทย์ในออสเตรเลีย, Jesse O'Shea แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ และ Victor Tseng แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ทั้ง 2 อาศัยในสหรัฐอเมริกา
เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ
- 1335 views