กระทรวงสาธารณสุข ชู สถาบันโรคทรวงอก 1 ในโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GREEN & CLEAN Hospital) ชวนรณรงค์พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ภายใต้ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ซึ่งล่าสุดมีโรงพยาบาล 930 แห่ง ผ่านมาตรฐาน GREEN & CLEAN Hospital
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ณ สถาบันโรคทรวงอก จ.นนทบุรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล (GREEN & CLEAN Hospital) “สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วย” ว่า ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (PP&P Excellence) กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลมีการดำเนินงาน GREEN & CLEAN Hospital เพื่อดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน ทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาสุขภาพ เป็นศูนย์รวมที่สำคัญของชุมชน มีผู้มารับบริการจำนวนมาก จึงต้องหลีกเลี่ยงการเกิดของเสียที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ จากการรักษาพยาบาลไม่ได้
ซึ่งการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดสภาพแวดล้อมตามแนวทาง GREEN & CLEAN Hospital เป็นการปรับภาพลักษณ์ของโรงพยาบาล ในเชิงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการน้ำเสีย พร้อมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานทำงานเชิงรุก คือ ทำมากกว่าการรักษาโรค โดยส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้รู้จักดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่อาหารการกิน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และความรับผิดชอบต่อสังคมในการจัดการขยะและการประหยัดพลังงาน ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ใช้หลักการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Ecological Sanitation) โดยใช้กลยุทธ์ CLEAN และกิจกรรม GREEN ทำให้สามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชน ผู้มาใช้บริการ ในการรณรงค์และขยายผลสู่สังคมได้
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 959 แห่ง สามารถพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital จำนวน 930 แห่ง ร้อยละ 96.98 แบ่งเป็นระดับพื้นฐานร้อยละ 47.13 ระดับดี ร้อยละ 35.25 ระดับดีมากร้อยละ 14.60 และกรมอนามัยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง สามารถพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital ภายในปี 2561
“ทั้งนี้ การประเมิน GREEN & CLEAN Hospital แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล ระดับดี เพิ่มความครอบคลุมด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในโรงพยาบาล และระดับดีมาก เน้นเรื่องของคุณภาพในการจัดการและการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผลการดำเนินงาน โดยเพิ่มกิจกรรมการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรม GREEN ประกอบด้วย G: Garbage คือ การจัดการมูลฝอยทุกประเภท R: Rest room คือ การพัฒนาส้วมมาตรฐานสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย (HAS) E: Energy คือ การจัดการด้านพลังงาน E: Environment คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล N: Nutrition การจัดการสุขาภิบาลอาหารและ การจัดการน้ำบริโภคในโรงพยาบาล
ส่วนกลยุทธ์หลัก CLEAN เป็นหลักในการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม การดำเนินกิจกรรม GREEN จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร C: Communication การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ L: Leader สร้างบทบาทนำเพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน E: Effectiveness เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพด้วยกิจกรรม GREEN อย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม A: Activity สร้างกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกอย่างมีส่วนร่วม N: Network ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายชุมชนและท้องถิ่น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 809 views