กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสังคมโซเชียลทำคนไทยสับสนเรื่อง ‘นม’ ชี้ นมเป็นแหล่งคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สนับสนุนให้คนไทยดื่มนมทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในนมที่มีผลต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก ส่งผลต่อพัฒนาการด้านความสูง
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สังคมออนไลน์ทุกวันนี้ มีการแชร์ข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นความจริง มีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อถือได้ และเรื่องที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้บริโภค อาทิ เรื่องการดื่มนมที่มีความบิดเบือนจากข้อมูลทางด้านโภชนาการ กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานวิชาการและมีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมโภชนาการในทุกกลุ่มวัย จึงต้องสร้างความรู้แก่ประชาชนให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะในนมมีโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ ไขมันต่ำรสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง
แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า คนไทยดื่มนมน้อยมากเฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราดื่มนม คนไทยยังต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4 - 7 เท่า
กรมอนามัยจึงสนับสนุนให้คนไทยดื่มนมวัวให้มากขึ้น เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณภาพดี ช่วยในการเจริญเติบโตร่างกายในเด็ก และสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็วจะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในผู้ใหญ่ มีวิตามินต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ขณะที่ผู้กินมังสวิรัติควรระวังการขาดวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก
“ทั้งนี้ เด็กก่อนวัยเรียน 1 ปีขึ้นไป และวัยเรียน ควรดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง เด็กควรดื่มนมครบส่วนไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน เพราะมีแหล่งพลังงานคือไขมันและวิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งละลายในไขมัน หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว และบริโภคปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อนกินข้าวหรือผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่นเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งมารดาและทารกในครรภ์ วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุแนะนำให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่ปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมไร้ไขมัน และที่สำคัญเลือกดื่มนมรสจืดดีที่สุด นมรสจืดดีกว่านมปรุงแต่งรส ในการเลือกดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมขอให้สังเกตว่ามีเครื่องหมาย อย.รับรองอย่างถูกต้อง และอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ว่ามีน้ำนมโคสดแท้กี่เปอร์เซ็นต์ ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำนมโคสดแท้ที่เปอร์เซ็นต์สูงกว่าจะได้รับสารอาหารจากนมมากกว่า” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวยืนยันว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุใน Milk and dairy products in human nutrition ว่า นมและผลิตภัณฑ์นมสำคัญต่อโภชนาการที่ดีของคนตลอดช่วงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก ให้ความสำคัญกับการดื่มนม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น 'วันดื่มนมโลก' (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ และองค์กรที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการบริโภคนม ด้วยการให้ความรู้และคุณประโยชน์ของนมให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ที่ได้มีการจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลก อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรโคนมมีรายได้ โดยมีการควบคุมการผลิต โดยไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นตามกำหนดของ Codex ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission - CAC) มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล
- 1560 views