ผอ.รพ.สต.ปากคลอง ชี้เครือข่าย อสต.กลไกจำเป็นในชุมชนแรงงานต่างด้าว ช่วยรุกงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ทำหน้าที่เหมือน อสม. เผยหลังจ้าง พสต.ชะงัก เหตุขัดต่อกฎหมาย ต้องอาศัยกลไก อสต.ทำงานแทน รอจังหวัดและหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา
นายสมปอง ชัยณรงค์ ผอ.รพ.สต.ปากคลอง อ.เมือง จ.ระนอง กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นเครือข่ายที่สร้างไว้ในชุมชน ทำหน้าที่เหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยประสานงานการลงพื้นให้กับ รพ.สต. สอดส่องสถานการณ์โรคในพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถช่วยเป็นล่ามให้ได้ หาก อสต.สามารถพูดไทยได้ แต่ด้วย อสต.เป็นการทำงานด้วยจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน ทั้งยังอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มักมีการโยกย้ายพื้นที่ ทำให้ต้องมีการหา อสต.ใหม่เพื่อทดแทนต่อเนื่อง
ทั้งนี้จุดเริ่มต้น อสต.ในพื้นที่ปากคลองเกิดจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว อาทิ การติดตามผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น และได้มีการจัดอบรม อสต.เพื่อเป็นแกนนำหลักในด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนพร้อมสร้างเครือข่าย ซึ่งภายหลัง รพ.สต.ปากคลองจึงได้ขอเข้าร่วม เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นกลไกที่มีประโยชน์ต่อสาธารณสุขในพื้นที่ รพ.สต.ปากคลองจึงได้มีการจัดอบรม อสต.เพิ่มเติม โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ และสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในการจัดวิทยากรอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดและการป้องกัน การดูแลสุขอนามัยและสาธารณสุข โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมไปแล้ว 2 ครั้ง มี อสต.เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน และได้กระจายลงไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี
นายสมปอง กล่าวว่า ในการทำงานร่วมกับ อสต.นั้น เป็นทำงานด้วยจิตอาสาและไม่มีค่าตอบแทน ทางเราจึงไม่ได้รบกวนอะไรมาก เพราะ อสต.บางคนยังต้องทำงาน ดังนั้นในช่วงปกติเราจะใช้พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) เป็นหลัก แต่จะประสานขอความร่วมมือ อสต.เฉพาะเวลาที่เกิดโรคระบาด ซึ่ง พสต.จะมีเบอร์ติดต่อ อสต.อยู่และจะขอความร่วมมือในกรณีที่ต้องการให้ อสต.ร่วมลงพื้นที่ด้วย หรือประสานไปยังมูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้ เพื่อให้การทำงานสะดวกและคล่องตัวขึ้น ซึ่ง อสต.มีทั้งคนที่พูดภาษาไทยได้ และพูดไม่ได้ ซึ่งในคนที่พูดได้จะขอให้เป็นล่ามให้ด้วย
ที่ผ่านมา รพ.สต.มีแต่การจ้าง พสต. เท่านี้น แต่ อสต.ยังไม่มีการดำเนินโครงการใดๆ เพื่อสนับสนุน โดยเราจะขอความร่วมมือจาก อสต.เป็นครั้งคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตามมองว่าเครือข่าย อสต.ประโยชน์ต่อพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ เน้นเป็นกลไกที่ให้คนในชุมชนที่เป็นคนต่างด้าวดูแลคนในชุมชนที่เป็นต่างด้าวด้วยกัน เพราะแม้เราจะมี อสม.แต่ก็เข้าถึงได้ยาก เพราะด้วยภาษาที่แตกต่าง ทำให้การสื่อสารไม่รู้เรื่อง ซึ่ง อสม.เองก็ต้องใช้ล่ามเช่นกัน ดังนั้นการมี อสต.ในพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยสถานการณ์โรคในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ และที่เรากังวลคือผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มคนต่างด้าวที่พบเพิ่มขึ้น ซึ่งในการรักษาต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อให้หายขาดและไม่เกิดภาวะดื้อยา ต้องมีกลไกเพื่อช่วยติดตาม นอกจากนี้ยังมีโรคติดต่อไม่เรื้อรังและเบาหวานความดันที่พบผู้ป่วยมากขึ้น
“หากเกิดโรคระบาด หรือมีปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งคนต่างด้าวอาศัยอยู่ เมื่อติดปัญหาการสื่อสารจะทำให้การทำงานยากขึ้น โดยก่อนหน้าที่ยังไม่มี อสต. ในการลงพื้นที่เราต้องถามหาคนต่างด้าวในชุมชนที่พอจะพูดภาษาไทยได้บ้างให้มาช่วยแปลภาษาให้ ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าไป แต่หากเรามีเครือข่าย อสต.ในพื้นที่เราเอง การลงพื้นที่ก็จะมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น กรณีมีการระบากของโรคไข้เลือดออกก็จะเข้าสื่อสารเพื่อค้นหาผู้ป่วยและควบคุมโรคได้ทันที ดังนั้นเครือข่าย อสต.จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง” ผอ.รพ.สต.ปากคลอง กล่าวและว่า แม้ว่า อสต.ในกลุ่มที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แต่ก็สามารถอำนวยความสะดวกทำให้การเข้าถึงพื้นที่และการค้นหาผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น
นายสมปอง กล่าวต่อว่า หากภาครัฐจะมีนโยบายให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้เกิดกลไก อสม.ในพื้นที่คนต่างด้าว แต่เป็นคนต่างด้าวด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การทำงาน อสต.มีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันในภาพใหญ่ยังเป็นส่วนสนับสนุนงานป้องกันและควบคุมโรคในประเทศ ส่วนการสนับสนุน อสต.จากภาคเอกชนนั้น จะเป็นในรูปแบบความร่วมมือในการคัดกรองและเข้าควบคุมโรคในเวลาที่เกิดการแพร่ระบาด หรือในการสืบสวนโรคเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ
ผอ.รพ.สต.ปากคลอง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในส่วนของ พสต.ขณะนี้ รพ.สต.ปากคลองได้หยุดการจ้างลง เนื่องจากทาง สสจ.แจ้งว่างบประมาณหมด และยังมีเรื่องทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถจ้างได้ ดังนั้นในระหว่างนี้จึงประสานกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ เพื่อขอ อสต.มาช่วยงานในวันที่เปิดคลินิกเพื่อแก้ปัญหาไปก่อน แต่ในวันที่ไม่มีคลินิกก็จะมีปัญหาอยู่ ซึ่งจะใช้วิธีขอให้ผู้ป่วยที่เป็นคนต่างด้าวพอพูดภาษาไทยได้มาเป็นล่ามให้ ทั้งนี้ พสต.ที่ รพ.สต.ปากคลองได้โควต้าจ้าง 2 คน เนื่องจากเป็นพื้นที่มีแรงงานต่างด้าวมากประมาณ 5,000-6,000 คน หากรวมประชากรแฝงน่าจะอยู่ที่เกือบ 10,000 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ยังคงต้องรอความหวังต่อไป
“อยากฝากให้จังหวัดและหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้าง พสต. หรือการสนับสนุนการสร้างเครือข่าย อสต. เพื่อให้การทำงานในพื้นที่ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้เรายังต้องอาศัยให้คนไข้คนต่างด้าวพอพูดไทยแปลให้บ้าง ใช้ภาษามือบ้าง คุยภาษาใบ้เป็นคำๆ และประชาสัมพันธ์ในกลุ่มคนต่างด้าวว่า หากมีใครไม่สบายในช่วงนี้ขอให้พาเพื่อนหรือคนรู้จักที่พอพูดไทยได้มาด้วย เพื่อที่จะได้สื่อสารกันเข้าใจ” นายสมปอง กล่าว
- 86 views