วลีข้างต้นมีกริยา 2 คำคือตื่น และตาม ส่วนอีกคำเป็นชื่อวีรบุรุษในยุคปัจจุบันของเรา
ตื่น...ผมให้ความหมายว่ามีสติกลับคืนมาจากภาวะหลับ สลบ หรือเมาจนไม่รู้สึกตัว
ตาม...ผมให้ความหมายว่าการดำเนินการใดๆ ที่เป็นไปในแนวทางที่เหมือนหรือคล้ายกันกับต้นแบบ
ตูน...ผมให้ความหมายว่าเป็นวีรบุรุษที่ริเริ่มบุกเบิกการวิ่งมาราธอนเพื่อระดมทุนจากสาธารณะ เพื่อนำมาช่วยเสริมสร้างพัฒนาโรงพยาบาลภาครัฐในระดับต่างๆ ให้มีเครื่องมือเครื่องไม้และทรัพยากรพื้นฐานให้ดีขึ้น ให้มากขึ้น เพื่อนำไปช่วยเหลือดูแลรักษาคนอื่นๆ ในสังคม
ผมเชื่อสุดหัวใจว่าตูนทำการวิ่งระดมทุนนี้ด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยเหตุผลว่ามนุษย์แทบทุกคนกลัวลำบาก กลัวเจ็บ กลัวตาย
การวิ่งระยะยาวเพื่อนะดมทุนบริจาคที่กำลังทำนั้นเป็นการทำที่เสี่ยงต่อภยันอันตราย ความยากลำบาก การบาดเจ็บพิการ และเสี่ยงต่อชีวิต หลับตานึกก็คงเห็นภาพว่าถนนหนทางที่วิ่งในบ้านเมืองเรานั้นอันตรายเพียงใด ทั้งขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ บางเส้นผ่านพื้นที่สีแดง คนขับรถราในบ้านเราขึ้นชื่อเรื่องขาดวินัยจราจรดังจะเห็นได้จากสถิติอุบัติเหตุระดับโลก แถมวิ่งมากวิ่งยาวถ้าไม่ฟิตดีพออาจบาดเจ็บหนัก กล้ามเนื้อสลาย ไตวาย และตายได้ ยังไม่นับความเหนื่อยสาหัสที่คนอื่นๆ ในสังคมที่รักความสบายหรูหราฟู่ฟ่านั่งกินนอนกินย่อมไม่เคยคิดอยากทำแบบเขา
ผมภาคภูมิใจแทนตูนเหลือเกิน เพราะเค้าเป็นผู้ปลุกกระแสสังคม ก่อให้เกิดการ"ตื่น"มากมายหลายเรื่องตามมา
หากเราจำกันได้...
ตื่นที่ 1 คือ สังคมตื่นรู้มากขึ้นว่าเหตุใดบ้านเมืองเราจึงประสบปัญหาต่างๆ อย่างเรื้อรังและแก้ไม่หายสักที เหตุที่ทำให้ตื่นรู้ก็มาจากการที่มีนักบริหารระดับพ่อบ้านแม่บ้านรีบออกมาแก้ข่าวน้ำขุ่นๆ ว่า ระบบมีทรัพยากรเพียงพอ ตามมาด้วยเสียงโห่จากคนในระบบที่นึกไม่ถึงเลยว่านักบริหารจะกล้าออกมาพูดเช่นนั้น
ตื่นที่ 2 คือ หน่วยงานสุขภาพภาครัฐดูจะตื่นจากภวังค์ในระยะเวลาต่อมา คงจะเป็นจากการที่ประเมินสถานการณ์แล้วว่าการยอมรับความจริงน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่การมุสาอาจผิดศีลและตายไปแล้วอาจตกนรกได้ จึงดาหน้าเดินสายออกข่าวตอบรับการระดมทุนบริจาคของตูน และพอจะอำนวยความสะดวกบ้างตามวิสัยที่ควรกระทำตั้งแต่ต้น
ตื่นที่ 3 คือ การตื่นของท่าน "ต." ที่รับรู้ถึงเจตนาดี และคงมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกประชารัฐแบบไม่หวังเงินกำไร ทำเพื่อคนยากไร้คนเจ็บไข้ได้ป่วย ต่างจากประชารัฐหลายเรื่องที่คนสงสัยเหลือเกินว่าประโยชน์ไปตกแก่นายทุนเป็นหลัก ท่านจึงออกข่าวเชียร์อย่างออกหน้าออกตา ทำให้กองเชียร์อย่างผมยิ่งต้องยกใจให้ว่านี่สิคือสิ่งที่รัฐควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในสังคม
ตื่นที่ 4 การตื่นของแวดวงอื่นในสังคม เช่น นายพลแม่ทัพภาคต่างๆ ที่มาช่วยดูแลความปลอดภัย แถมมาร่วมวิ่งระดมทุนกับตูนด้วยอีกต่างหาก แม้จะทำโดยอาจมาจากคำสั่งของท่าน ต. แต่นี่คือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคม และจะดีมากหากในภายภาคหน้าการยื่นมือมานั้นเป็นไปด้วยความยินดีปรีดาโดยไม่ต้องมีการร้องขอหรือสั่งการ รวมถึงการริเริ่มทำกันเองโดยภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
ขำๆ กับตื่นที่ 5 คือ การตื่นของกลุ่มไม่พึงประสงค์ ที่จับแพชนแกะ มองดอกบัวเป็นกงจักร กล่าวหาคนที่ทำดีว่ามาหากินกับ รพ. หรือท้าทายว่าวิ่งไปก็แก้ปัญหาขาดแคลนไม่ได้
คนเรานั้นดูกันที่การกระทำ ทำด้วยปากพูดนั้นโอกาสเกิดผลนั้นน้อยเหลือเกิน ทำด้วยมือหรือแสดงออกด้วยการทำสิ่งต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมก็ย่อมมีมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ แทนที่จะมองมุมบวกว่านี่คือรูปแบบการช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองโดยอิสระของประชาชน โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณและระเบียบอันยุ่งยากของรัฐ ตามที่เราทราบกันดีว่าขอไป 100 มักได้มาน้อยกว่าที่ขอ แถมขอมาเพราะจำเป็นต้องใช้สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ แต่กว่าจะได้ก็อีกปีสองปีหรือกว่านั้น แต่เหล่าคุณๆ กลับเอาเวลามาโหนกระแสพลิกไปมองด้านตรงข้ามไปเสียฉิบ สู้เอาเวลาและความสามารถของคุณๆ ทั้งหลายไปสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้เทียบเท่าหรือให้ดีกว่าตูนจะดีกว่าไหม?
2 ปีก่อนผมเคยเขียนเล่าเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคตผ่านทางสื่อสารมวลชนว่า "สุขภาพของคนไทยอยู่ในมือทุกคน" หัวข้อนี้ได้รับการเขียนขยายความให้เห็นตัวอย่างเชิงรูปธรรมว่าคนทุกคนในสังคมสามารถมาช่วยกันพัฒนาระบบสุขภาพได้ โดยส่งเป็นบทความประกวดในงานวิชาการทางการแพทย์สามสถาบัน ได้รับรางวัลชมเชย
ที่ยกเรื่องนี้มาก็ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีทางเลยที่รัฐจะทำการหางบประมาณมาดูแลสุขภาพของประชาชนได้ทุกเรื่องทุกที่ทุกเวลาและเบ็ดเสร็จได้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หมายรวมถึงทุกประเทศทั่วโลก
การจัดการด้านสุขภาพนั้นมีทั้งเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพจากการเจ็บป่วยต่างๆ หรือดูแลระยะยาวและดูแลประคับประคองในระยะที่รักษาไม่ไหว
ความรู้ มาตรฐาน และความคาดหวังทางด้านการแพทย์นั้นเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดนิ่งหรือลดลง ในขณะเดียวกันราคาค่างวดของการแพทย์ก็สูงขึ้นตามธรรมชาติของโลก ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของแต่ละประเทศโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นราวร้อยละ 9-12 ต่อปีเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดๆ ก็ยากที่จะทำให้ลดลงอย่างยั่งยืนได้
เหตุผลหลักคือ แต่ละประเทศไม่สามารถยืนได้ด้วยตนเองในทุกเรื่อง และต้องซื้อหาหยูกยา เครื่องมือเครื่องไม้ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมาใช้ดูแลคนของตนเอง กลไกตลาดทุนก็หมุนไป ต้นทุนมักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคนเงินของและจิปาถะที่จำเป็นต่อการหมุนระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายรัฐและโลก
แม้"ตูน"จะทำให้หลายฝ่ายในสังคมตื่นขึ้นมา แต่ยังคงมีคำถามจากหลายต่อหลายคนว่าแล้วจะยังไงต่อ จบการวิ่งครั้งนี้จะมีครั้งต่อไปไหม เมื่อไหร่ อย่างไร จะได้วางแผนขอร่วมด้วย จะร่วมวิ่ง ร่วงบริจาค หรือร่วมทำสิ่งไม่พึงประสงค์กวนน้ำให้ขุ่นต่อไป
ผมจึงอยากชี้ชวนให้เรา "ตาม" ตูนครับ
ตามอย่างไร?
หนึ่ง ตามรอยตูนในการทำกิจกรรมที่เราแต่ละคนถนัด เชี่ยวชาญ หรือคร่ำหวอดอยู่ในการดำรงชีพประจำวัน
ใครถนัดกีฬาก็ริเริ่มนำกีฬานั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคน จะชวนคนมาร่วมกันเล่นก็ดี จะรวมทีมกันจัดแรลลี่หรือกิจกรรมระดมทุนก็ได้ ไม่ต้องรอ
ใครถนัดศิลปะ เส้นสายลายเสียง รวมถึงสถาปนิกที่ออกแบบสิ่งของเครื่องใช้และตึกรามบ้านช่อง หากเหลือบดู รพ.รัฐจะพบว่า คงจะดีถ้าเราเอาทักษะของเราไปอาสาช่วยปรับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลให้ดีขึ้น หรือหากไม่อยากเข้าไปในโรงพยาบาล แค่ร่วมด้วยช่วยกันรวมกลุ่มปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสังคม หรือบ้านเรือนของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ก็ย่อมดีมาก
ใครทำนาทำไร่ แค่รวมกลุ่มกันติดต่อโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านเพื่อช่วยแบ่งปันผลผลิตที่มีคุณภาพ หรือขายส่งราคาย่อมเยา ก็เป็นคุณูปการต่อทั้งบุคลากรและผู้ป่วยมากมาย
กิจการห้างร้านต่างๆ สามารถช่วยเหลือชีวิตคนในสังคมได้อย่างมาก หากตั้งนโยบายหรือวางแผนไว้ล่วงหน้าที่จะใช้งบ CSR หรือกำไรบางส่วน หรือสินค้าหรือบริการที่มีอยู่นั้น มาบริจาคให้แก่สถานพยาบาลภาครัฐทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เงินที่บริจาคนั้นจะดีมากหากสามารถนำมาใช้เพื่อลงทุนเรื่องตึก ปรับพื้นที่ ซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยและเพิ่มศักยภาพและใช้ได้จริง
แต่สินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินก็สามารถนำมาแบ่งปันได้ ยกตัวอย่างเช่น กลวิธีแบ่งเวลาใช้สินค้า/บริการแบบ time sharing ของโรงแรม/ที่พักซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แม้จะเพิ่มขั้นตอนหรือเป็นการอ้อมไปนิด หรือหากเป็นกิจการที่มีคนงานที่มีทักษะ อาจบริจาคเป็นวันทำงานเพื่อชวนคนงานให้มาช่วยงานที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก็มีประโยชน์มาก
สอง ตามโดยการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้จากตูน ตูนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เป็นที่จับตามอง ดังนั้นจึงช่วยให้เกิดกระแสทำดีเช่นนี้ได้อย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนเราเห็นดาราเซเลบที่แสดงสินค้าหรือบริการแล้วทำให้จูงใจคนได้มากมาย
ภาษาทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกว่าเป็น Anchoring bias หรือพฤติกรรมคนที่เกิดจากอคติจากการยึดติด
เราสามารถใช้วิธีเช่นนี้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ ดังเห็นจากการที่หลายๆ ที่ชวนดารามาออกรายการทีวีชวนคนบริจาคมานานแล้ว แต่จริงๆ เราสามารถใช้เพื่อชวนให้ทำพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดีได้เช่นกัน
มาตรการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างทางเลือกที่จะได้รับการนำเสนอแบบอัตโนมัติ หรือ default option ยกตัวอย่างเช่น การมีนโยบายสนับสนุนให้ทุกคนบริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติเวลาไปต่อทะเบียนรถหรือทำบัตรประชาชน แต่หากไม่ต้องการบริจาคก็สามารถแสดงความเจตจำนงค์ไม่บริจาคในแบบฟอร์ม ซึ่งวิธีนี้ต่างประเทศใช้กันมานานจนมีสถิติการบริจาคอวัยวะเกือบ 100% เลยทีเดียว ดังที่เห็นได้ในออสเตรีย
อีกรูปแบบหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ใน British Medical Journal ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ระดับโลก ฉบับเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมาคือ มาตรการที่รณรงค์ให้กิจการอาหารตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนมากขึ้น โดยในประเทศสก็อตแลนด์ได้มีการใช้มาตรการให้ระบุข้อมูลโภชนาการที่อ่านง่าย (Information labelling) และนำเสนอเมนูอาหารในขนาดที่เล็กลงหรือจำกัดให้อยู่ในคุณค่าโภชนาการต่อมื้อที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป (Portion size intervention)
สาม รัฐต้องตามตูน มิใช่ว่าเร่งทำอีเว้นท์หาเงินบริจาค แต่ต้องคิดตาม และในขณะเดียวกันต้องปรับปรุงระบบและกลไกรัฐ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งที่ดี ยอมรับความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และศักยภาพของรัฐ มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่มองว่าเค้ามาก้าวก่าย และไม่ควรมองว่าคนอื่นจะมาได้หน้าแล้วตนเองจะเสียหน้า
คนทำงานภาครัฐมักคุ้นชินกับการแบ่งส่วนงานอย่างชัดเจน เพราะง่ายต่อการจัดสรรงบและทรัพยากร ตลอดจนการติดตามกำกับประเมิน
แต่ระบบคิดดังกล่าวนั้นล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก
ปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบันและอนาคตนั้นเกิดจากหลายเหตุหลายปัจจัยประกอบกัน และแต่ละปัจจัยนั้นสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างดังที่ปรากฏในแต่ละเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่เรารู้จักในชื่อของ Sustainable Development Goals (SDG) ที่ไทยก็เอามาเป็นต้นแบบในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเช่นกัน แต่ละเป้านั้นไม่สามารถให้หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานนึงทำได้อย่างครบถ้วนเบ็ดเสร็จจนลุล่วง แต่ต้องหาทางวางแผนร่วมกัน ระหว่างรัฐด้วยกันเองก็ไม่พอ ยังต้องอาศัยภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จึงจะพอเห็นความหวังที่จะผลักดันงานให้คืบหน้า ถ้าขืนใช้ระบบรัฐอย่างเดียว ไม่มีทางสำเร็จ
ในระบบสุขภาพก็เช่นกัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องปรับตัวบทกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้คล่องตัวขึ้นและสอดคล้องกับความเป็นจริงหน้างาน เพื่อหวังจะให้ทั้งคนทำงานในระบบสุขภาพ รวมถึงประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้
หากจะพ่วงท้ายให้รัฐคิดให้จงหนักคือ การรวมศูนย์อำนาจนั้นจะทำให้เกิดระบบที่สั่งการแบบบนลงล่าง อุ้ยอ้าย เยิ่นเย้อ ล่าช้า และยากมากที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ตอนนี้ได้ข่าวเรื่องการปฏิรูปหลายด้านในระบบสุขภาพ ทั้งกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ทั้งองค์กรวิจัย และระบบบริการสุขภาพ แนวโน้มที่เห็นนั้นดูจะเป็นไปในทางที่น่ากังวล
เราเห็นชัดเจนว่า ตูนได้แสดงให้เห็นการขับเคลื่อนงานที่สำเร็จ เพราะนอกจากมีจิตใจดีมุ่งมั่นพยายามแล้ว ยังม่ีอิสระในความคิดเพื่อวางแผน และจัดการ ประสานความร่วมมือกับคนอื่นๆ ทุกหมู่เหล่า แม้รัฐจะมาร่วมด้วยครั้งนี้ แต่องคาพายพส่วนใหญ่มาจากภาคส่วนอื่นทั้งสิ้น
หากไทยแลนด์ 4.0 จะแสวงหานวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ที่สร้างมูลค่าและประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงอิสระทางความคิด และการบริหารจัดการด้วย คอรัปชั่่นมักเกิดในแวดวงที่มีอำนาจมาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย จะป้องกันได้คงต้องปลูกฝังจิตใจ และระเบียบวินัยกันยาวนาน ขันน็อตเรื่องกลไกการตรวจสอบให้ดี แต่ไม่ใช่ว่าให้รวบทุกอย่างมาไว้ตรงศูนย์กลาง เพราะสุดท้ายอาจแย่กว่าเดิมได้
สุดท้ายนี้ ปรากฏการณ์ของวีรบุรุษผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้เห็นความร่วมมือของสังคมในการพัฒนาระบบสุขภาพนี้เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับสังคมไทย ผมเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น "Health by All" เวอร์ชั่นแรก
และปรารถนาเหลือเกินที่จะเห็นการแตกหน่อต่อยอด ขยายวง โดยคนอื่นๆ ในสังคมได้ริเริ่ม มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมชื่นชมความสำเร็จในการพัฒนาระบบสุขภาพสำหรับคนไทยเราด้วยกัน ไม่ได้รอให้รัฐจัดสรรสวัสดิการแบบจำกัดมาให้แต่เพียงฝ่ายเดียว
เราทำอะไรเองได้มากกว่าที่จะรอให้คนหามาให้
ตื่น...ตาม...ตูน
เราตื่นแล้ว...ท่านล่ะตื่นหรือยัง?
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 8 views