วงเสวนา “จัดซื้อยารวมบัตรทอง” ย้ำ สธ. สปสช. และ อภ.จับมือเแน่น เดินหน้าจัดซื้อยาปี 61 ไม่สะดุด ยันไม่เกิดปัญหาขาดยาแน่ พร้อมเผยความคืบหน้าต่อรองราคายา 110 รายการแล้ว ภาพรวมราคายาลดลงเทียบปี 60 มีเพียงยา 3 รายการราคายาเพิ่มขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ – ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการเสวนา “ระบบบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในช่วงแรกของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดซื้อยารวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่พบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ทั้งจากราคายาที่แพงมาก และการจัดหายาที่ทำได้ยากมาก ในปี 2551 บอร์ด สปสช.จึงได้มีมติให้บริหารจัดการเพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ โดยเน้นเฉพาะยาที่มีปัญหาต่อการเข้าถึง จึงเป็นที่มาของการจ่ายชดเชยเป็นยา แต่ต่อมาเมื่อ สปสช.ถูกทักท้วงว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และในช่วงกลางปี 2560 ยังได้มีคำสั่ง ม.44 ให้ดำเนินการจัดซื้อยาให้ถูกต้อง บอร์ด สปสช.จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการโดยยึดหลักคือประชาชนต้องได้รับยาต่อเนื่อง ไม่ขาด ต้องทำให้หน่วยบริการมีภาระเพิ่มขึ้น และต้องจัดซื้อยาได้ในราคาถูก
ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) และ สปสช ต่างร่วมทำงานกันอย่างหนัก และได้เปิดวอร์รูมเพื่อเร่งดำเนินงาน ทั้งนี้กระบวนการจัดซื้อยาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ รพ.ราชวิถี เครือข่ายหน่วยบริการจะทำหน้าที่ในการจัดซื้อยาแทน สปสช.ที่ต้องยุติในปี 2561 แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือเงื่อนไขการเบิกจ่ายชดเชย โปรแกรมส่งข้อมูลการเบิกจ่ายยา และ อภ.ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้จัดส่งยาเหมือนเดิม และภาพรวมการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ รพ.ยังสามารถเบิกจ่ายและดำเนินการได้เหมือนเดิม ซึ่งระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดปัญหายาขาด สปสช.เขตยังคงรับหน้าที่ในการประสานข้อมูลให้
“หลังจากนี้ สปสช.จะไม่ได้ทำหน้าที่จัดซื้อยาแล้ว แต่จะโอนเงินให้ รพ.ราชวิถีเพื่อทำหน้าที่จัดซื้อแทน โดยแบ่งการโอนเงินจัดซื้อเป็น 3 งวด เพื่อให้ รพ.ราชวิถีสามารถดำนินการทำสัญญาจัดซื้อได้ ขณะที่การเบิกจ่ายยายังคงดำเนินไปเช่นเดิม โดยระบบเมื่อคนไข้มารับบริการและต้องเบิกจ่ายยา รพ.จะส่งข้อมูลมายัง สปสช. ซึ่ง สปสช.จะส่งข้อมูลไปยัง อภ. และ รพ.ราชวิถี เพื่อให้มีการเบิกจ่ายและจัดส่งยาไปยัง รพ.ที่ต้องการ”
นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า รพ.ราชวิถีจะทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช.แล้ว แต่บทบาทบอร์ด สปสช.ยังคงทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติแผนการจัดซื้อยาในแต่ละปี เพราะงบประมาณจัดซื้อยายังต่อส่งผ่านมายังกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.ยังต้องทำหน้าที่จัดทำแผนโดยใช้กลไกอนุกรรมการ และข้อมูลการใช้ยาที่ผ่านมา เพื่อประมาณการในการจัดทำแผน รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่เป็นการทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกฝ่ายยังคงต้องช่วยกัน
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า หากถามว่า สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาดีอยู่แล้ว ทำไมต้องหยุดซื้อ เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเข้มข้นและพบว่า สปสช.จัดซื้อยา แม้จะไม่ทุจริตแต่ก็ไม่ถูกกฎหมาย จึงให้มีการปรับเปลี่ยน และการให้ สธ.ทำหน้าที่แทน เพราะ สธ.เป็นหน่วยบริการ กฎหมายกำหนดให้หน่วยบริการทำหน้าที่นี้เท่านั้น ส่วนทำไมต้องเป็น รพ.ราชวิถี เพราะเป็น รพ.ใหญ่ สามารถส่งงบประมาณจัดซื้อลงไปได้ เพราะหากมอบให้ รพ.จังหวัดต่างๆ ทำหน้าที่จัดซื้อจะติดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ไม่มีอำนาจจัดซื้อยามูลค่าพันล้านบาทเช่นเดียวกับเลขาธิการ สปสช.
ทั้งนี้แม้ว่าจะเปลี่ยนหน่วยงานทำหน้าที่จัดซื้อ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม สปสช.และ อภ.ยังคงต้องทำงานร่วมกัน ส่วนกรณีที่กังวลต่อปัญหาการขาดยา กรณียาอะบาคาเวียร์ (Abacavir tab) เกิดจากผู้ผลิตและจำหน่ายมีปัญหา ไม่ว่าใครทำหน้าที่จัดซื้อก็เจอปัญหา โดย อภ.ได้คุยกับบริษัทยาแล้ว ให้จัดหายาเพียงพอสำหรับผู้ป่วย เพียงแตช่วงนี้จำนวนยาอาจไม่เต็มที่เหมือนเดิม เช่น เคยส่งยาเพียงพอสำหรับ 1 เดือน อาจเหลือเพียงครึ่งเดือน แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ให้มีการขาดยาแน่นอน
“สิ่งที่หนักใจคือ รมว.สาธารณสุขสั่งห้ามซื้อยาแพงกว่าที่ สปสช.จัดซื้อ แต่เงินเฟ้อเพิ่มปีละ 2% ราคายาก็ปรับขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากความพยายามต่อรองจัดซื้อยาที่ผ่านมาใน 110 รายการ มีเพียง 3 รายการที่แพงกว่า สปสช.จัดซื้อเล็กน้อย แต่ภาพใหญ่การจัดซื้อราคาลดลง อย่างไรก็ตามในการจัดซื้อยานั้น วงเงินอนุมัติจัดซื้อโดย ผอ.รพ.ราชวิถี น้อยกว่าเลขาธิการ สปสช. งบจัดซื้อยาปีนี้อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ ผอ.รพ.ราชวิถีอนุมัติวงเงินได้ 50 ล้านบาท ซึ่งกำลังดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ยืนยันว่า สธ. สปสช. และ อภ.จับมืออย่างเหนียวแน่นไม่ให้เกิดปัญหายาขาด ” ผอ.อภ. กล่าว
ขณะที่ นพ.มนัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาในนาม สธ. นอกจากอนุกรรมการต่อรองราคายาและอนุกรรมการกำกับและติดตามแล้ว ในส่วน รพ.ราชวิถีได้เตรียมตั้งอนุกรรมการตรวจรับยาที่มีตัวแทน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และภาคประชาชน ขณะที่ศูนย์ปฎิบัติการร่วม สธ. อภ.และ สปสช. ได้เริ่มทำงานแล้ว และภายหลังจากได้รับสัญญาณจาก สปสช.ถึงปัญหายาขาดรวมถึงน้ำยาล้างไต จึงได้ประสาน อภ.เพื่อยืมยาแล้วมูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีหนังสือมอบอำนาจจัดซื้อยาอย่างเป็นทางการ ก็สามารถสั่งซื้อยาตามระเบียบในรูปแบบเดิมต่อไป คิดว่าไม่มีปัญหา
ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีความกังวลเรื่องวงเงินอนุมัติจัดซื้อที่เป็นอำนาจ ผอ.รพ.ราชวิถี ขณะนี้เบื้องต้นอยู่ที่วงเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ซึ่งในกรณีที่การจัดซื้อเกินวงเงิน อธิบดีกรมการแพทย์สามารถมอบจัดซื้อได้วงเงิน 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคงต้องมีการหารือเรื่องกรอบวงเงินจัดซื้ออีกครั้ง สำหรับการจัดซื้อยาให้กับหน่วยบริการภาคเอกชนนั้น ยังเป็นประเด็นที่หารือไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ มีข้อจำกัดอะไร โดยในระหว่างนี้หน่วยบริการเอกชนเบิกจ่ายมายัง สปสช.ก่อน ภายหลังหาความเห็นกรมบัญชีกลางไม่สอดคล้องให้ปรับจ่ายชดเชยเป็นเงินแทน
- 4 views