เปิดประชุม กปท. ปี 2563 เผยมีการใช้งานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นมากขึ้น ลดปัญหาเงินค้างท่อ ตั้งเป้ารับมือ 4 ประเด็นสุขภาพอนาคต “เด็ก-ผู้สูงวัย-NCDs-พื้นที่” สปสช.เตรียมการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นสู่สากล มุ่งกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจพี่เลี้ยงกองทุน (Coaching) ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ปีงบประมาณ 2563 โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. บรรยายถึง อนาคต กปท.
นพ.ศักดิ์ชัย ระบุว่า กปท.จะเป็นคำตอบในหลายเรื่องของด้านสุขภาพในอนาคต เพราะผู้ที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ดีที่สุดคือคนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาที่จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไม่อาจใช้การแก้ปัญหาจากส่วนกลางได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ภาพของปัญหาสุขภาพในอนาคตจะเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากสังคม พฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่ละชุมชน ที่ประสบกับภาวะแตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างระบบสุขภาพชุมชนต้องเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการแก้ไขปัญหาโดยชุมชน ที่จะมาช่วยระดมความคิดกันในขณะนี้
“4 เรื่องสำคัญของการเตรียมการในอนาคต คือการเผชิญเรื่องของเด็กที่เกิดลดลง คุณภาพต่ำลง เรื่องของสังคมสูงวัย เรื่องของแบบแผนการเจ็บป่วยที่เป็นโรคจากพฤติกรรมมากขึ้น หรือโรค NCDs และเรื่องของปัญหาสุขภาพที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้แต่ละท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อน โดยเลือกใช้องค์ความรู้และวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบท” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนปัญหาต่าง ๆ ของกองทุนฯ วันนี้ได้มีการก้าวข้ามไปแล้วในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินค้างท่อ ซึ่งในภาพรวมปัจจุบันทั้ง 12 เขตสุขภาพ มีจำนวนเม็ดเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าแล้วในเชิงระบบ เป็นภาพปรากฏการณ์ที่เกิดจากการร่วมกันทำงานของแต่ละท้องถิ่น
ขณะเดียวกันภาพของการทำงานยังได้มีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยมีลักษณะเป็นโครงการรายปีแล้วจบไป หรือลักษณะกิจกรรมที่เรียกว่าเบี้ยหัวแตก ขณะนี้หลายแห่งได้มีลักษณะแผนงานที่เป็นระยะกลาง ระยะยาวมากยิ่งขึ้น เกิดการออกแบบที่เป็นความยั่งยืนของแต่ละชุมชน
นพ.ศักดิ์ชัย ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของคนได้มีการก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น โดย สปสช.ได้เตรียมการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแลกเปลี่ยน การจัดเวทีให้ท้องถิ่นได้สัมผัสกับการเรียนรู้ระดับสากล โดยกำลังมีความร่วมมือสถาบันสาธารณสุขอาเซียน ที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามาอบรมพัฒนาศักยภาพ
สำหรับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนต่อไป คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการทำให้คณะกรรมการท้องถิ่นที่มีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจร่วมกันในการทำงาน 2. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยมีกองทุนฯ เป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ 3. มีกองทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ หรือ Health Literacy เพื่อชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ
“ภาพฝันในอนาคตคือการเปลี่ยนมุมมองต่อท้องถิ่น ว่าเป็นระบบการส่งเสริมสุขภาพที่เข้มแข็ง เวลาแก้ไขปัญหาชุมชนต้องคิดถึงท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดยท้องถิ่นเป็นศูนย์รวมการประสานความร่วมมือในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืน” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ
เลขาธิการ สปสช. ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 7,736 แห่ง กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด 49 แห่ง และกองทุนดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (LTC) 6,003 แห่ง
นพ.จักรกริช โง้วศิริ
ขณะที่ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ส่งเสริมประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีกลไกของ กปท.เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีเงินในการทำงานแต่ก็พบหลายรูปแบบ ทั้งที่ไม่กล้าใช้ ใช้ไปไม่เป็น หรือที่ใช้เป็นจนเกิดประโยชน์ได้ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยแต่ละพื้นที่อาจใช้หลักคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่วิธีคิดและมุมมองที่แตกต่าง อาศัยการคิดนอกกรอบ
“เรามีกองทุนมากว่า 10 ปี แต่บอกได้แล้วหรือไม่ว่ามีผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง สถานการณ์ผู้ป่วย การรักษา หรือกลุ่มเสี่ยงเป็นอย่างไร มีแผนที่ระบุตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นอีกประเด็นสำคัญคือเรื่องระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้” นพ.จักรกริช ระบุ
นพ.จักรกริช กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.กำลังมองถึงงานส่งเสริมป้องกันโรคขั้นต่อไป ที่อาจเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อเข้าถึงประชาชนรายบุคคล แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลารับวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ขณะที่หน่วยงานมีข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งงานต่อไปในอนาคตคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
- 42 views