สปสช.จัด “สิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ” ต่อเนื่อง ช่วยแก้ไขความพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ยกระดับคุณภาพชีวิต 5 ปี เบิกจ่ายอุปกรณ์ช่วยความพิการเกือบ 2 แสนชิ้น ดูแล 1.9 หมื่นคน ด้านบริการฟื้นฟูฯ ปี 60 มีผู้รับบริการแล้ว 6.3 แสนคน ขณะที่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จังหวัด มี อบจ.เข้าร่วม 42 แห่ง พร้อมจับมือ สธ. หน่วยงานเกี่ยวข้อง รุกระบบดูแลผู้ป่วย SNAP ช่องทางสู่การพัฒนาระบบสุขภาพประเทศยั่งยืน
นพ.ชูชัย ศรชำนิ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ จึงได้จัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และขยายขอบข่ายบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ครอบกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องรับบริการ ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลัน (Sub acute–Non acute Patient: SNAP) และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อดูแลให้ประชาชนให้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่งถึง โดยปี 2560 นี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณ 787,095,600 บาท หรือเฉลี่ย 16.13 บาทต่อประชากร เพื่อดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพนี้ โดยมีคนพิการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 1,285,925 คน ทั้งด้านพิการการเคลื่อนไหว การได้ยินหรือสื่อ สติปัญญา การมองเห็น และจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านการเรียนรู้ ด้านออทิสติก และไม่ระบุประเภท
ทั้งนี้งบประมาณจัดสรรนี้ครอบคลุมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ การจัดบริการฟื้นฟูสรรถภาพฯ ค่าฝึกไม้เท้าขาวสำหรับคนพิการตาบอด และการสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในส่วนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ แต่ละปีแม้ว่าการเบิกจ่ายเพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนพิการสะสมในระบบ แต่ส่งผลให้คนพิการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ซึ่งภาพรวมการเบิกอุกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ปี 2556 มีการเบิกจ่ายจำนวน 56,162 ชิ้น ปี 2557 เบิกจ่ายจำนวน 55,482 ชิ้น ปี 2558 เบิกจ่ายจำนวน 30,130 ชิ้น และปี 2559 เบิกจ่ายจำนวน 34,670 ชิ้น (อายุใช้งานอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการไม่เท่ากัน) และในช่วง 8 เดือนของปี 2560 (ข้อมูล 31 พ.ค. 60) มีการเบิกจ่ายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ 21,272 ชิ้น ซึ่งภาพรวม 5 ปี มีจำนวนการเบิกอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการสะสม 197,678 ชิ้น โดยเป็นจำนวนผู้พิการที่รับอุปกรณ์ทั้งสิ้น 18,959 คน
สำหรับปี 2560 อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีการเบิก 5 อันดับแรก คือ
1.เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังใบหู ระบบดิจิตอล 4,555 ชิ้น
2.รถนั่งคนพิการชนิดพับได้ทำด้วยโลหะแบบปรับไม่ได้ 2,673 คัน
3.ไม้เท้าอลูมิเนียมแบบสามขา 1,752 ชิ้น
4.รถนั่งคนพิการพับได้ทำด้วยโลหะแบบปรับได้ 1,623 คัน
และ 5.ขาเทียมระดับใต้เข่าแกนใน 1,167 ชิ้น
ส่วนบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ นพ.ชูชัย กล่าวว่า มีอัตรารับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2559 มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ 930,649 คน หรือ 2,980,948 ครั้ง จากที่เริ่มดำเนินการในปี 2556 มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 425,588 คน หรือ 1,672,941 ครั้ง และในปี 2560 นี้ มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ แล้ว 634,622 คน หรือ 2,034,186 ครั้ง (ข้อมูล 31 พ.ค. 60) ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพกายภาพบำบัดมีการรับบริการมากที่สุดสูงร้อยละ 71.72 รองลงมา จิตบำบัด ร้อยละ 15.11 พฤติกรรมบำบัด ร้อยละ 3.29 และกิจกรรมบำบัด ร้อยละ 5.35 นอกนั้นเป็นการฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูสมรรถภาพการเห็น และการแก้ไขการพูด เป็นต้น ขณะที่การฝึกไม้เท้าขาวสำหรับคนพิการตาบอด มีคนตาบอดรับบริการ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 25,021 คน
ขณะที่ผลดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดที่เริ่มตั้งแต่ปี 2554 เป็นการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพของหน่วยบริการในจังหวัด ช่วยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ และสมทบงบประมาณ จำนวน 42 แห่ง หรือร้อยละ 55.3
“จากสิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ที่ผ่านมา มองว่าด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหลังการเจ็บป่วยเป็นช่องทางที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพประเทศได้ในอนาคต ไม่เพียงแต่ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยรับบริการยังหน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านแทนภายใต้การดูแลโดยทีมหมอครอบครัว แต่ผู้ป่วยยังสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใกล้บ้านได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการประจำ หน่วยบริการรับส่งต่อเอกชน สภากายภาพบำบัด สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อร่วมพัฒนาระบบ ซึ่งจะทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนเป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 97 views