ผู้เชี่ยวชาญโรคฮีโมฟีเลียเผย แนวทางการดูแลผู้ป่วยเลือดออกง่ายของสิทธิบัตรทองตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้ผลดี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลจนตอนนี้หาเคสตัวอย่างคนไข้เลือดออกในข้อมาสอนนักเรียนแพทย์ไม่ได้แล้ว
ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์
ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย สาขากรุงเทพฯและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคเลือดทางกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงสถานการณ์โรคฮีโมฟีเลียในปัจจุบันว่า ฮีโมฟีเลียจัดอยู่ในกลุ่มโรคหายาก มีอุบัติการณ์ 1:10,000 ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรับแฟกเตอร์เข้มข้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประมาณ 1,600 คน ซึ่งตามแนวทางการรักษาที่ทำมากว่า 10 ปี ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อลงทะเบียนแล้ว จะได้รับแฟกเตอร์เข้มข้นจำนวนหนึ่งไปฉีดที่บ้าน โดยจะฉีดเมื่อเริ่มมีอาการเลือดออก
ขณะเดียวกัน ในช่วง 2-3 ปีนี้ มีบางโรงพยาบาลที่คนไข้ได้รับแฟกเตอร์ฉีดเพื่อป้องกัน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งจากแนวทางการรักษาแบบนี้ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาการเลือดออกตามข้อต่างๆ ได้รับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ ลดความเสียหายของข้อต่อต่างๆ และผู้ป่วยจึงไม่ต้องมาที่โรงพยาบาลเหมือนในอดีต
“ในอดีตคนไข้ที่มีอาการรุนแรงหรือปานกลางจะมีเลือดออกในข้อหรือในกล้ามเนื้อ ต้องมารักษาที่โรงพยาบาลครั้งละ 3-7 วัน เดือนหนึ่งมา 2-3 ครั้ง กล่าวได้ว่าแทบจะใช้ชีวิตครึ่งค่อนอยู่ในโรงพยาบาล แต่หลังจาก สปสช.มีแฟกเตอร์เข้มข้นไปฉีดเองที่บ้าน คนไข้ก็หมดไปจากโรงพยาบาล จนกระทั่งตอนนี้ในฐานะอาจารย์แพทย์ ไม่มีตัวอย่างคนไข้เลือดออกในข้อให้นักเรียนแพทย์เรียนเลย” ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าว
ศ.พญ.อำไพวรรณ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ป่วยฮีโมฟีเลียที่มาโรงพยาบาลจะมีเฉพาะกรณีเลือดออกรุนแรงหรือเมื่อมาทำฟัน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปีซึ่งได้รับแฟกเตอร์เข้มข้นในช่วง 10 ปีมานี้แทบไม่ต้องมาโรงพยาบาลเลย ยิ่งในรายที่ให้การรักษาแบบป้องกันก็ยิ่งเหมือนคนปกติ แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างในกลุ่มคนไข้ผู้ใหญ่ที่เยื่อบุข้อมีความผิดปกติเนื่องจากตอนยังเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
นพ.ชูชัย ศรชำนิ
ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท/ปี ในการจัดหาแฟกเตอร์เข้มข้นจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาล 49 แห่งทั่วประเทศที่เป็นศูนย์รับลงทะเบียนของ สปสช. รวมทั้งจัดระบบเชื่อมโยงกับระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิและกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นของ อบต.และเทศบาล ที่มีผู้ป่วยฮีโมฟีเลยอาศัยอยู่เพื่อระบบ ช่วยแนะนำ สอนผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านได้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากแฟกเตอร์เข้มข้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มชีววัตถุตามรายการในบัญชีนวัตกรรมไทย หมายความว่าหากสามารถผลิตในประเทศได้ ต้องให้ลำดับความสำคัญในการซื้อของที่ผลิตในประเทศก่อน ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิตแฟกเตอร์เข้มข้นของสภากาชาดไทยที่ศรีราชาได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเกาหลีใต้ รวมทั้งได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์การอนามัยโลกแล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นคือต้นทุนในการผลิตของสภากาชาดไทยสูงกว่าราคาที่ สปสช.จัดหามา อาจทำให้ดูเหมือนว่าส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยได้รับแฟกเตอร์เข้มข้นในปริมาณที่ลดลง
ทาง สปสช.ได้หารือร่วมกับสภากาชาดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับแฟกเตอร์เข้มข้นในปริมาณที่ไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งอาจจะต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลในปี 2562 แต่เป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก ไม่น่าจะเกิน 25 ล้านบาท
- 46 views