น่ายินดีที่งานด้านระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินของไทย หรือ งานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีศักยภาพและความก้าวหน้า ทั้งในประเทศ ระดับสากล และอาเซียน ซึ่งไทยถือเป็นชาติอันดับต้นๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ในการประสานช่วยเหลือพัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินของภูมิภาคอาเซียน
ดังจะเห็นได้จาก การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม The 2nd ASEAN Executive Meeting on “ASEAN Emergency Medicine and Disaster Preparedness” หรือ งานมีตติ้ง เครือข่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉินในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยกรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เชิญสมาชิกกว่า 20 ประเทศมาประชุมร่วมกัน เพื่อบูรณาการระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินให้เป็นเครือข่าย ตลอดจนรองรับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ที่รุนแรงและพบได้บ่อยมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งลดและป้องกันการเสียชีวิตและพิการ
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา
“ถ้าคนไทยเดินทางไปเข้าประเทศที่ยังไม่พัฒนาด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน แล้วเกิดไม่สบาย ถ้าการรักษาของเขาไม่มีคุณภาพ คนไทยที่ไม่สบายจะทำอย่างไร อาจจะเสียชีวิตหรือพิการที่นั่น ในทางกลับกันหากเขาเข้ามาประเทศเรา ระบบฉุกเฉินของเราไม่ดี เขาก็อาจจะเสียชีวิตหรือพิการได้ ซึ่งงานตรงนี้คือการสร้างเครือข่ายผนึกเข้ามาให้เป็นรูปธรรม หลังจากที่เราได้มีการพัฒนา การฝึกอบรมของหมอฉุกเฉินขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เราได้ให้การสนบับสนุนถ่ายทอดประสบการณ์ให้ประเทศเวียดนาม จนขณะนี้ รัฐบาลของประเทศเวียดนามได้เริ่มมีการผลักดันให้หน่วยงานในประเทศเขา มีการพัฒนาระบบการฝึกอบรมมากขึ้น อันจะเป็นผลให้งานของประเทศนั้นๆ มีความยั่งยืน” นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี ชี้แจงรายละเอียดและเป้าหมายของงาน
“เป้าหมายที่สำคัญ ที่ต้องเดินหน้าพัฒนาให้ได้คือ การสร้างระบบการรักษารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไร้พรมแดน ที่มีคุณภาพ และเน้นความร่วมมือที่ดีต่อกันในนานาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงภาวะภัยพิบัติ ผนึกกำลังกันในแบบ เครือข่าย ทั้งผ่านกระบวนการของรัฐและไม่ใช่รัฐ ในการช่วยเหลือกัน”
นพ.สมชาย กาญจนสุต
นอกเหนือจากความน่าสนใจ ในการมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านงานประชุม The 2nd ASEAN Executive Meeting on “ASEAN Emergency Medicine and Disaster Preparedness” แล้ว นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ยังได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างและข้อจำกัดของไทย ซึ่งต่างจากบรรดาเพื่อนอาเซียน นั่นคือเรื่องหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุ
“เมื่อเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศในอาเซียน เรายังเป็นเลข 4 ตัว แต่ทุกประเทศเขามีเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินเป็นเลข 3 ตัว ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำและกดใช้บริการได้ง่าย เลขฉุกเฉินที่ดีประชาชนจะต้องแจ้งได้รวดเร็ว ในทางสากลจะมีเพียง 3 หลัก ดังนั้นรัฐบาลควรจะดำเนินการให้เกิดเลขหมายฉุกเฉินเบอร์เดียว ที่เป็นเลขหมายเพียง 3 ตัว ก็จะเป็นคุณประโยชน์กับประชาชนมาก”
นพ.สมชาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกระบบการช่วยเหลือฉุกเฉินของประเทศไทย ยังให้ความเห็นในเรื่องทิศทางของงานด้านฉุกเฉินของไทย ว่า ในขณะนี้แม้จะมีการผลิตแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาที่เด่นชัดคือ แพทย์เหล่านี้เมื่อจบแล้ว ไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐได้ไม่นาน ก็ไม่สามารถที่จะทนต่อระบบที่มีอยู่ ต้องลาออกไปทำงานกับภาคเอกชนแทน ทำให้เราถมไม่ค่อยเต็ม ซึ่งเป็นปัญหาที่มุ่งหวังให้ สธ.ต้องรีบหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงให้แพทย์งานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเหล่านี้อยู่ต่อ เพื่อปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐให้มากขึ้น
“แม้ในขณะนี้เรามีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติหรือ สพฉ.เกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ถือว่ายังเดินไม่ค่อยตรงทิศทางนัก ทั้งที่มีกฎหมายเอื้อ และมีงบประมาณรองรับอยู่ หวังว่า สพฉ.ควรใช้โอกาสที่มีกฎหมายเอื้อตรงนี้ มาออกแบบและสร้างระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้มแข็งให้เข้ารูปเข้ารอยได้มากกว่านี้ เพื่อให้เกิดคุณภาพและความยั่งยืน” นพ.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
“แม้ในขณะนี้เรามีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติหรือ สพฉ.เกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ถือว่ายังเดินไม่ค่อยตรงทิศทางนัก ทั้งที่มีกฎหมายเอื้อ และมีงบประมาณรองรับอยู่ หวังว่า สพฉ.ควรใช้โอกาสที่มีกฎหมายเอื้อตรงนี้ มาออกแบบและสร้างระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้มแข็งให้เข้ารูปเข้ารอยได้มากกว่านี้ เพื่อให้เกิดคุณภาพและความยั่งยืน”
- 53 views