รพ.ราชวิถี ผนึก 5 รพ.ในพื้นที่ กทม. ฝึกจำลองสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อทดสอบระบบความพร้อมในการกู้ชีพฉุกเฉิน เน้นแจ้งเหตุ เข้าถึงจุดหมายเร็ว ส่งต่อทันท่วงที ด้าน “ผอ.รพ.รามา” ชี้ การจราจรใน กทม.อุปสรรคสำคัญของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน วอนผู้ใช้ถนนเปิดช่องทางให้รถฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 โรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่โซน 8 กรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลปิยะเวท, โรงพยาบาลกรุงเทพ, มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, กลุ่มอาสาพระราม 9, อาร์คอม, CB ห้วยขวาง และประดิษฐ์มนูธรรม จัดทดสอบการเผชิญเหตุฉุกเฉิน ด้วยการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อทดสอบระบบความพร้อมจริงในการกู้ชีพฉุกเฉิน
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลทั้ง 6 แห่ง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทีมการแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิ และอาสาสมัครในพื้นที่โซน 8 กทม. จัดทดสอบการเผชิญเหตุการณ์จำลอง เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น การแจ้งเหตุ การประสานเหตุ การเข้าถึงจุดเกิดเหตุ การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น และส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปยัง รพ.ต่างๆ อย่างเหมาะสมรวดเร็ว ปลอดภัย เพื่อให้รอดชีวิตหรือลดความพิการ ทั้งนี้ในการจำลองสถานการณ์ จะไม่มีการแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์อะไร เกิดขึ้นเวลาใด ณ สถานที่แห่งใดเหมือนกับการฝึกซ้อมที่ผ่านมา เพราะจะทำให้ทราบสถานการณ์ล่วงหน้า สามารถเตรียมการในการทำงานได้ก่อน
ซึ่งการฝึกครั้งนี้เราเน้นการบริหารจัดการเผชิญสถานการณ์ที่รวดเร็วเหมาะสม แม้กระทั่งการนำผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ ต้องมีระบบคัดแยกผู้ป่วย เพื่อพิจารณาในการนำส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่เหมาะสม โดยไม่ให้ผู้ป่วยไปกระจุกที่ใดที่หนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้ป่วย
“การทำงานที่ต้องเผชิญกับผู้ป่วยแบบนี้ ต้องทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ตั้งแต่ด้านการควบคุมสถานการณ์ คือ เจ้าของพื้นที่หรือหน่วยงานประจำท้องถิ่นหรือเขต, ตำรวจจราจร, เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ มูลนิธิ อาสาสมัคร และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถีเป็นแม่โซน โดยจะทำงานประสานกับศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ของ กทม. ในการฝึกครั้งนี้ ต้องขอบคุณพลตำรวจตรีจิรพัฒน์ รอง ผบชน. ที่ให้การสนับสนุนด้านงานจราจร อำนวยความสะดวกเรื่องเส้นทาง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก มาช่วยเสริมตกแต่งบาดแผลที่เสมือนจริง และตึกฟอร์จูน ที่ให้ใช้พื้นที่เป็นสถานที่เกิดเหตุ และสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยที่ได้ทำโครงการ ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในชุดแนวคิดที่ 4 เรียกว่า สรรค์ความช่วยเหลือ โดยช่วยให้เกิดการทดสอบการฝึกในสถานการณ์ครั้งนี้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การจราจรของกรุงเทพฯเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อมีอุบัติภัยหมู่เกิดขึ้น ดังนั้นการฝึกภาคสนามจริงจะช่วยให้เกิดการทบทวนและพัฒนาปฏิบัติการของทีมบุคลากรการแพทย์ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน รวมถึงระบบการสื่อสาร และระบบการส่งต่อผู้ป่วย ที่อาจมีข้อจำกัดต่างๆได้อย่างทันการ
“การฝึกซ้อมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากปีที่ผ่านๆ มา และระบบส่งต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติภัยหมู่ จากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล ช่วยให้การปฏิบัติการรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการเชื่อมประสานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบครบวงจรและปิดช่องว่างในการบริการการแพทย์ฉุกเฉินหมู่ โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องฝ่าการจราจรที่ติดขัด ทั้งนี้อยากให้กำลังใจทีมงานทุกฝ่ายที่ยังยืนหยัดทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความกลมกลืนของระบบบริการทางการแพทย์ และขอวิงวอนทุกภาคส่วนให้ช่วยกันเปิดช่องทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ท้ายสุดขอความร่วมมือผู้ขับขี่ที่ใช้รถ ควรเคารพกฎจราจร ไม่ประมาท ไม่ดื่มสุรา ขับรถอย่างมีสติ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติการอุบัติเหตุที่ต้นทางได้อย่างแท้จริง” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
- 43 views