ผอ.รพ.แม่ระมาด เผยผลสำเร็จ “โครงการห้องคลอดปลอดเด็กไร้รัฐ” ช่วยลดปัญหาคนไทยไร้สัญชาติในพื้นที่ เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ระบุประชากร จ.ตาก เกือบครึ่งไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แถมร้อยละ 70 ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซ้ำเข้ารักษาจ่ายเงินเองยังส่งผลบริการแตกต่าง ทั้งจ่ายแพงกว่า รักษาแตกต่าง ส่งต่อยาก และไม่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายด้านสุขภาพ
นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์
เมื่อเร็วๆ นี้ในการเสวนา “กลุ่มเปราะบาง : ความท้าทายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับยริการระดับประเทศ ประจำปี 2560 “ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น: จุดเริ่มต้นจากนโยบายสู่การปฏิบัติ” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า หากพูดถึงกลุ่มเปราะบาง ในความเห็นของผู้ให้บริการคือคนที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงคนรับบริการสุขภาพที่ด้อยกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐาน และจากประสบการณ์การฐานะเป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาล จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน ประชากรในพื้นที่มีประมาณ 9 หมื่นคน เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 43.6 ไม่มีสัญชาติไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ชาวเขา ซึ่งตกหล่นจากการสำรวจสัญชาติ 2.กลุ่มหนีภัยสงคราม โดยในช่วง 30-40 ปีก่อน ในพื้นที่เป็นสถานการณ์สู้รบ และ 3.แรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาตินี้ เป็นผู้ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถึงร้อยละ 70 นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิร้อยละ 25.2 และซื้อบัตรประกันสุขภาพร้อยละ 4.8
ในผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพเมื่อเข้ารับการรักษายังประสบปัญหาการปฏิบัติที่แตกต่าง คือ 1.ถูกเรียกค่ารักษาที่แพงกว่า เช่น การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ สิทธิข้าราชการจะถูกเรียกเก็บ 7,775 บาท บัตรทอง 7,994 บาท และจ่ายเองจะอยู่ที่ 12,112 บาท 2.วิธีการรักษาที่แตกต่าง กรณีกระดูกขาหักมีวิธีการรักษา 2 แบบ คือ ใส่ดามเหล็ก และใส่เฝือก แบบแรกจะหายเร็วกว่า เพียง 2-3 สัปดาห์กลับไปทำงานได้ ในคนที่มีหลักประกันสุขภาพสามารถเลือกวิธีรักษาได้ แต่ในกรณีจ่ายเองและไม่มีเงินก็ต้องใส่เฝือก ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือน
3.การส่งต่อยาก คำถามที่มักเจอคือ เป็นคนไทยหรือต่างด้าว มีสิทธิรักษาหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องส่งไปรักษาที่อื่น และ 4.ไม่ถูกนับเป็นตัวชี้วัดหรือเป้าหมายการทำงาน อย่างเช่นการให้วัคซีน แม้ว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่ใช่คนไทย และเรื่องนี้ยังกระทบต่ออัตรากำลังคน เพราะหากในพื้นที่มีประชากร 10,000 คน เป็นคนมีสัญชาติไทยเพียงครึ่งหนึ่ง รพ.สต.จะมีพยาบาลได้เพียง 2 คน จากอัตรากำลัง 2:2,500 คน ทำให้เกิดความทุกข์
นพ.จิรพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2557 ได้มีการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดน พบว่าคนต่างด้าวในพื้นที่จำนวนมากเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่ใช่คนที่มีสัญชาติอื่น ส่วนใหญ่เกิดในประเทศไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาล เรียนโรงเรียนไทยและอาศัยอยู่ถาวรบนแผ่นดินไทย สาเหตุเป็นคนไร้รัฐส่วนใหญ่เกิดจากเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็น อย่างการจดทะเบียนเกิด นำมาซึ่งการได้รับปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขาดโอการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น
โดยในส่วนของเด็กแรกเกิดนั้น จากข้อมูลการเกิดของเด็กต่างด้าวใน 5 รพ.ชายแดน (รพ.แม่สอด รพ.แม่ระมาด รพ.อุ้มผาง รพ.พบพระ และ รพ.ท่าสองยาง) จ.ตาก ปี 2557 มีจำนวนการเกิดของเด็กต่างด้าว 1,807 คน ได้รับแจ้งเกิด 1,274 คน และไม่ได้รับแจ้งเกิด 532 คน หรือร้อยละ 29.5 ซึ่งจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่คลอดใน รพ. และคาดว่ามีเด็กที่คลอดที่บ้านอีกเป็นพันคนที่ไม่ได้รับแจ้งเกิด ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาจึงได้มีการดำเนิน “โครงการให้ห้องคลอดเป็นเขตปลอดเด็กไร้รัฐ” เมื่อมีเด็กแรกคลอดให้มีการบันทึกหลักฐานการเกิดทันที การแนะนำพ่อแม่พร้อมให้มีการจัดทำชุดเอกสารแจ้งเกิด ในกรณีที่พ่อแม่เป็นชาวเขาและเสี่ยงมีปัญหาแจ้งเกิด คลินิกกฎหมายของ รพ.จะแจ้งเกิดแทนให้เพื่อให้อำเภอออกสูติบัตร และ รพ.จะดูการทะเบียนสิทธิ ท.99 และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในกรณีขึ้นทะเบียนไม่ได้ก็จะให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยินดี
ส่วนผู้ไม่มีสัญชาติรายเก่านั้นจะมีการพิสูจน์โดยการตรวจดีเอ็นเอที่เป็นวิธีปกติที่อยู่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายต่อรายสูงถึง 7,000 บาท ที่ผ่านมาได้มีกองทุนยุติธรรมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และโครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติของ รพ.จุฬาลงกรณ์ เข้ามาดูแล ซึ่งในกรณีที่พิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ก็มีทางออกในการซื้อหลักประกันสุขภาพแบบสมัครใจ นอกจากนี้ยังมีการเสนอการให้สิทธิหลักประกันสุขภาพกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไร้สัญชาติเช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการที่ให้กับนักเรียนที่มีรหัสจี ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
นพ.จิรพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนการประกันสุขภาพแบบสมัครใจของกระทรวงสาธารณสุข มี 2 แบบ คือ เด็กอายุ 0-7 ปี ราคา 365 บาท เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ 2,700 บาท ปรากฎว่าขายไม่พอ ด้วยเหตุผลว่าแพงและต้องจ่ายเป็นเงินก้อน จึงรอให้ป่วยก่อนค่อยซื้อ ที่ผ่านมากองทุนผู้ย้ายถิ่น (M-FUND) ซึ่งดำเนินโครงการพัฒนาและประกันสุขภาพรายย่อย ได้มีข้อเสนอในการเก็บเงินประชาชนที่ไม่มีหลักประกันรายเดือน 100 บาท ปีละ 1,200 บาท โดยจะมี รพ.เครือข่ายดูแลเบื้องต้น แต่ในกรณี รพ.รัฐขอกำหนดเพดานจ่ายไม่เกิน 50,000 บาท แต่อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่มีข้อตกล
“วันนี้ขอเป็นตัวแทนคนไร้สัญชาติไม่มีหลักประกันสุขภาพเพื่อสะท้อนปัญหา ซึ่งต้องปรับทัศนคติ เข้าใจว่าคนต่างด้าวส่วนหนึ่งไม่ใช่คนต่างชาติ แต่เป็นคนไทยที่ไม่ได้รับสัญชาติ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบริการภาครัฐที่เข้าไปไม่ถึง ไม่ใช่ความผิดเขาเหล่านั้นที่จะไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งหากเราเข้าใจจุดนี้ก็จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา ขณะนี้เมื่อเราถามถึงทะเบียนราษฎร์ไปยังกรมการปกครองจะบอกจำนวนประชากรสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทย แต่ในด้านสุขภาพ สธ.กลับตั้งเป้าเฉพาะสัญชาติไทย จึงควรปรับให้สอดคล้องกัน พร้อมกันนี้ควรขยายกองทุนหลักประกันสุขภาพผู้รอพิสูจน์สถานะให้ครอบคุลม ขณะที่โครงการห้องคลอดปลอดเด็กไร้รัฐ ไร้หลักประกัน ใน จ.ตากได้พิสูจน์ว่าทำได้ จึงควรที่จะขยายโครงการนี้ออกไป” ผอ.รพ.แม่ระมาด กล่าว
- 142 views