สสส.ร่วมกับ รพ.แม่ระมาด จ.ตาก อุดช่องโหว่ระบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดฝิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แนวชายแดน เน้นขยายให้บริการที่ รพ.สต. หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ บูรณาการชุมชน-อาสาสมัครสาธารณสุข ค้นหาผู้ป่วยติดฝิ่นเชิงรุก ตั้งจุดบริการจ่ายยาเมทาโดนใกล้บ้าน ฟื้นฟูสมรรถภาพกาย-ใจ ชู จ.ตากเป็นต้นแบบพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพตามแนวชายแดน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและแรงงานข้ามชาติ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อศึกษารูปแบบการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดฝิ่น ที่เหมาะสมกับกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์
นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด กล่าวว่า ในอดีตการเสพฝิ่นใช้วิธีสูบแต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดกันมากขึ้นเนื่องจากออกฤทธิ์เร็วกว่า และใช้ปริมาณน้อยกว่า ผลร้ายที่ตามมาคือผู้เสพจำนวนมากติดเชื้อ HIV, ไวรัสตับอักเสบ B และ C และมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปสู่สมาชิกในครอบครัว ส่วนการบำบัดฝิ่นในอดีตมักใช้วิธีถอนพิษยา แต่หลังการบำบัดผู้ป่วยมักจะกลับไปติดฝิ่นอีก ปัจจุบันจึงใช้วิธีการบำบัดโดยการให้เมทาโดนทดแทนระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับว่าการบำบัดผู้ป่วยติดฝิ่นโดยเมทาโดนเป็นแนวทางที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการบำบัดยาเสพติดด้วยยาเมทาโดนระยะยาว ในปี 2551 ก็ได้ขยายให้สิทธิประโยชน์การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยนอกในกลุ่มผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น (โอปิออยด์) และอนุพันธ์ของฝิ่นโดยสมัครใจ
ทั้งนี้ ยาเมทาโดน จัดเป็นยาเสพติดประเภท 2 ต้องมีการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเสพติดได้และเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการถึงชีวิต ผู้ให้บริการจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจวิธีรักษาตามหลักการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยบริการที่จะมีสิทธิ์เบิกจ่ายยาเมทาโดนได้ ต้องผ่านการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2552
“ผู้ป่วยไร้สัญชาติเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการบำบัดได้ แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 เพราะกองทุนกล่าวเป็นกองทุนที่มีขนาดเล็กและมีงบประมาณจำกัด การเบิกจ่ายค่าชดเชยสำหรับการจ่ายเมทาโดนยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงบริการสุขภาพ ชุมชนอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการนำผู้ป่วยติดฝิ่นเข้าสู่กระบวนการบำบัด และทำให้การบำบัดไม่ต่อเนื่อง ที่สำคัญบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดฝิ่นยังจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลและ รพ.สต.ที่มีความพร้อม จึงยังไม่ครอบคลุมพื้นที่” นพ.จิรพงศ์ กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบการบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดฝิ่นในพื้นที่แนวชายแดน ภายใต้การดำเนินงานของบุคลากรจากโรงพยาบาลแม่ระมาด ในการออกแบบการให้บริการที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในโรงพยาบาล แต่ขยายการให้บริการออกไปสู่ รพ.สต.และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันทั้งต่อการค้นหาผู้ป่วยติดฝิ่นในเชิงรุกและการบำบัดรักษา ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือจากชุมชน อาสาสมัคร บุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรจากภาคส่วนอื่น ๆ ในการค้นหาและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา สนับสนุนให้มีจุดบริการการจ่ายยาเมทาโดนใกล้บ้าน ติดตามให้กำลังใจให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สนับสนุนให้มีกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย จิตใจ ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดกลับมามีสุขภาพดีเป็นคนดีทำประโยชน์ให้กับสังคมควบคู่ไปกับการมีกลวิธีในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนเพื่อการยอมรับผู้ติดยาที่ผ่านการบำบัดแล้วให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
นางภรณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ผ่านเข้าสู่ระบบการรักษาด้วยวิธีการให้เมทาโดนทดแทนระยะยาวผ่านโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ประมาณ 400 คน ยังคงรับยาต่อเนื่องอยู่ 270 คน หรือ ร้อยละ 67.5 และประมาณการว่ายังมีผู้ติดฝิ่นที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการรักษาประมาณ 300-400 คน
นอกจากตัวอย่างของการให้บริการบำบัดรักษากลุ่มชาติพันธ์โดยใช้รูปแบบพิเศษแล้ว สสส.ยังสนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากกำหนดทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากในภาพรวม ด้วยการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ในเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการจัดระบบ และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยคาดหวังว่ารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวชายแดนจังหวัดตากที่ สสส.สนับสนุนนี้จะเป็นต้นแบบหนึ่งในการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาพให้กับพื้นที่ชายแดนไทยบริเวณอื่นๆ ต่อไป
สำหรับอำเภอแม่ระมาดอยู่ติดกับประเทศเมียนมา มีประชากรสัญชาติไทย 49,973 คน มีกลุ่มชาติพันธุ์ (เผ่ากะเหรี่ยง) 21,694 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43.4 นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพจากประเทศเมียนมาอีกประมาณ 20,000 คน มีพื้นที่ปลูกฝิ่นทั้งหมด 428 ไร่ มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประมาณการว่ามีผู้ติดฝิ่นทั้งหมด 700-800 คน ร้อยละ 60 ใช้วิธีฉีด มีผู้ติดเชื้อ HIV, ไวรัสตับอักเสบ B และ C ร้อยละ 2, 13, และ 45 ตามลำดับ
- 42 views